อาคารนี้เรียกว่า "พลับพลาเปลื้องเครื่อง" ใช้เป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงในสมัยนั้น ยามเสด็จมาสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ตอนนี้กลับออกมาจากพลับพลาเปลื้องเครื่อง เดินมาตามทางเรื่อยๆ เพื่อขึ้นสู่ตัวปราสาทด้านบน จากในรูปทางที่เรากำลังเดินไปนี้ เรียกว่า "ทางดำเนิน"
ระหว่างสองข้างทางก็จะมีเสาหินทรายยอดคล้ายดอกบัวตูม ขนาบข้างตลอดเส้นทาง มาทราบทีหลังจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีทั้งหมด 70 ต้น เสาพวกนี้เรียกว่า "เสานางเรียง"
หันหลังกลับมองทางที่เดินผ่านมาจะเห็น "สะพานนาคราช ชั้นที่ 1" ลักษณะเป็นผังรูปกากบาท ราวสะพานทำเป็นตัวของพญานาค 5 เศียร หันหน้าออกทั้งสี่ทิศ สะพานนาคราช ชั้นที่ 1 นี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์
กำลังจากผ่าน "สะพานนาคราช ชั้นที่ 2" เพื่อเข้าสู่ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานศิลปะสมัยลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากขอมอีกทอดหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสุงสุดในศาสนาอินดู ลัทธิไศวนิกาย
กลุ่มปราสาทหินต่างๆ ภายในอุทยานมีช่วงอายุการก่อสร้างราวๆ พุทธศตวรรษที่ 15-18 และในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงมาเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาในช่วงเวลานั้น
หน้าทางขึ้นสะพานนาคราช ชั้นที่ 2 จะเป็นลานกว้าง มีสระน้ำสี่เหลี่ยมจตุรัสเล็กๆ หรือที่เรียกว่า "บาราย" อยู่ในบริเวณนั้น 4 สระ
หนึ่งในสระน้ำทั้งสี่ กับซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน
หน้าบันของระเบียงคดด้านหน้าสลักเป็นรูปฤาษี สันนิษฐานว่าหมายถึงพระศิวะในปางผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
กำลังจะผ่านซุ้มประตูกลางเข้าไปยังส่วนด้านใน ในยามที่เกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์สาดส่องบานประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ก็หมายถึงเหล่าบานประตูที่เรากำลังจะก้าวผ่านไปนี่แหละ
เดินเข้ามาถึงปรางค์ประธานกันแล้ว ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน