ภูเก็ต
ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม
จังหวัดภูเก็ต หรือเกาะภูเก็ต ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ในน่านน้ำทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีธรรมชาติสวยงาม ทั้งชายทะเลและขุนเขา โดดเด่นด้วยหาดทรายขาวราวกับแป้ง และน้ำทะเลสีครามสวยสดใส เปรียบได้กับ “ไข่มุก” แห่งท้องทะเลอันดามัน อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอื่นๆ รายล้อมในระยะใกล้เคียง
ภูเก็ตเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบครบครัน และที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้กับภูเก็ตได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลไปเยี่ยมเยือนปีละหลายล้านคน
จังหวัดภูเก็ตมีเนื้อที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร หรือ 339,375 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 75 ของประเทศ หรือมีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดสมุทรสงคราม แต่เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีความยาวของเกาะวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ทั้งเกาะล้อมรอบด้วยทะเลอันดามัน และมีเกาะใหญ่น้อยที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดภูเก็ตแวดล้อมอยู่อีกถึงกว่า 30 เกาะ
คำว่า “ภูเก็ต” นั้น เชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ “บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา และเดิมใช้คำว่า “ภูเก็จ” ซึ่งในภาษาของชาวทมิฬ แปลว่า “ภูเขาแก้ว” เป็นคำที่ชาวทมิฬใช้เรียกมณีคราม นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีชื่ออื่นๆ ที่ถูกเรียกขานมาตั้งแต่อดีตอีกหลายชื่อ เช่น แหลมตะโกลา จังซีลอน สิลัน ถลาง และทุ่งคา เป็นต้น
ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ จนถึงสมัยกรุงสุโขทัยก็ได้ไปขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงในฐานะเป็นดินแดนแห่งเศรษฐีเหมืองแร่ดีบุก เพราะมีแร่ดีบุกอยู่มากที่สุดในประเทศ โดยมีการขุดหาแร่กันมายาวนานถึงกว่า 500 ปีแล้ว ตัวเมืองในอดีตนั้นเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ที่ถลาง มีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์จากการซื้อขายแร่กับชาวต่างชาติ นอกจากการทำเหมืองแร่แล้ว ยังมีการปลูกยางพารา ทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ และทำการประมงด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พม่าได้ยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทย ตั้งแต่เมืองระนอง ชุมพร ไชยา ไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพของกรุงเทพฯ ยังติดพันศึกสงครามอยู่ที่กาญจนบุรี ไม่สามารถยกทัพลงมาช่วยได้ทัน พม่าจึงตีได้เมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เพื่อรอเข้ายึด ประจวบกับในขณะนั้นพระยาถลาง (พญาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรมและยังไม่ได้มีการตั้งเจ้าเมืองใหม่ ท่านผู้หญิงจัน ภริยาของท่าน กับน้องสาวชื่อ “มุก” จึงรวบรวมกำลังพลและชาวเมือง ช่วยกันตั้งค่ายใหญ่ขึ้น 2 ค่าย เพื่อปกป้องรักษาบ้านเมืองไว้ ทำให้พม่าไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ พม่าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางได้ประมาณเดือนกว่าก็หมดเสบียง จึงต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด
วีรกรรมของผู้นำหญิงทั้ง 2 ท่านในครั้งนี้ นับเป็นการกระทำอันหาญกล้าและมีประโยชน์ใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้ท่านผู้หญิงจันเป็น “ท้าวเทพกระษัตรี” และคุณมุกเป็น “ท้าวศรีสุนทร” เป็นที่ภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองถลางมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น “มณฑลภูเก็จ” และในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ “มณฑลภูเก็จ” จึงเปลี่ยนมาเป็น “จังหวัดภูเก็ต” นับแต่นั้นมา
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้