Author Topic: Dazaifu Tenmangu  (Read 7697 times)

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
Dazaifu Tenmangu
« on: March 15, 2011, 10:52:57 AM »
Dazaifu Tenmangu

การผลิบานของดอกบ๊วยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นสัญญาณตามธรรมชาติที่บ่งบอกให้ทราบว่าเหมันต์ฤดูกำลังจะผ่านพ้นไปอีกวาระหนึ่งแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการเตรียมตัวเป็นเฟรชชี่น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปบนขอพรโดยเฉพาะที่ศาลเจ้าในลัทธิชินโตซึ่งใช้ชื่อว่า Tenmangu แล้วสอบผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้นั้นคงต้องหาเวลากลับไปสักการะแก้บนกันอีกสักครั้ง

ศาลเจ้าในลัทธิชินโตเริ่มกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศญี่ปุ่นในสมัย Yayoi (ช่วง 300 BC-300 AD) ตามความเชื่อที่ว่ามีเทพเจ้าสถิตอยู่ในธรรมชาติที่ คอยปกปักรักษาบันดาลความสงบสุขมาสู่มนุษย์ จากนั้นพัฒนาการของความเชื่อดังกล่าวได้แตกแขนงออกไปอย่างเป็นระบบซึ่งประมาณการว่าปัจจุบันมีศาลเจ้าชินโตมากกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

ศาลเจ้าแต่ละแห่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สถิตของ เทพเจ้าทั้งที่มีตัวตนเป็นรูปธรรม เช่น ภูเขา แม่น้ำ ทะเล คน สัตว์ ฯลฯ กับเทพเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งสถานภาพของศาลเจ้ารวมถึงความหลากหลายของเทพเจ้าเป็นที่มาของคำเรียกอันแตกต่างกันไปใน ภาษาญี่ปุ่น ยกตัวอย่าง Jinja, Jingu, Taisha, Tenmangu, Hachimangu, Sanzan เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดหมายถึง “ศาลเจ้า” ในลัทธิชินโต

ศาลเจ้าที่ลงท้ายด้วยคำว่า “Tenmangu” จัดอยู่ในกลุ่มศาลเจ้าของเทพแห่งการศึกษาซึ่งถือกำเนิดมาจากมนุษย์ที่เรียกว่า “Tenjin” มนุษย์ในที่นี้ มักหมายถึง Michizone Sugawara ผู้เป็นนักปราชญ์, นักกวีและนักการเมืองในสมัย Heian (ค.ศ.794-1185)

Michizone Sugawara เกิดเมื่อ 1 สิงหาคม 845 เติบโตขึ้นมาในตระกูลของนักปราชญ์ที่รับใช้ราชสำนักในเกียวโต ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้มีส่วนช่วยปูพื้นฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับคนในอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ในวัยเด็ก Michizone แสดงอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์โดยสามารถแต่งโคลงด้วยอักษรจีนได้ตั้งแต่อายุ 11 ปี ซึ่งถือเป็น เรื่องยากมากสำหรับผู้คนในยุคนั้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาขั้นสูงในปี ค.ศ.870 แล้ว Michizone เจริญรอยตามบรรพบุรุษโดยเริ่มเข้ารับราชการในศาลยุติธรรม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 888 Michizone ได้เข้าไปมีส่วนพิพากษาในคดีพิพาท ทางการเมืองของ Mototsune Fujiwara ต่อองค์พระจักรพรรดิ Uda ซึ่งสร้างความแค้นเคืองให้กับกลุ่มขุนนางตระกูล Fujiwara เป็นอย่างมาก

เรื่องราวความเป็นไปของ Tenjin จึงเริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 10 เมื่อพระจักรพรรดิ Uda เสด็จสวรรคต ขณะนั้น Michizone Sugawara ดำรงตำแหน่งขุนนางฝ่ายขวาในราชสำนัก แต่ถูก Tokihira Fujiwara ขุนนางฝ่ายซ้ายใช้อุบายวางแผนปลดลงจากตำแหน่งแล้วคาดโทษส่งไปประจำการที่ Dazaifu จังหวัด Chikuzen (ปัจจุบันคือ Fukuoka) ในปี ค.ศ. 901 และถึงแก่อสัญกรรมใน 2 ปีถัดมา

จดหมายเหตุบันทึกไว้ว่าวัวที่ใช้ลากรถในพิธีส่งศพซึ่งดำเนินไปตามจารีตประเพณีอย่างเรียบง่าย นั้นได้หยุดอย่างกะทันหันตรงหน้าประตูวัดไม่ยอมขยับเขยื้อนไปไหนอีก ผู้คนต่างพากันเชื่อว่าเป็นประสงค์ของ Michizone Sugawara ที่ต้องการให้ฝังศพภายในวัดแห่งนั้น ดังนั้น Yasuyuki Umasake บริวารผู้ซื่อสัตย์จึงสร้างสุสานขึ้นภายในบริเวณนั้น

จะเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ภายหลังจากนั้นได้เกิดภาวะฝนแล้งสลับกับน้ำท่วม ฟ้าผ่าลงท้องพระโรงหลายครั้ง อีกทั้งโรคระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งพระโอรสในจักรพรรดิ Daigo ผู้คนในสมัยนั้นเชื่อว่าปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกียวโตทั้งหมดสืบเนื่องมาจากดวงวิญญาณของ Michizone Sugawara ที่ยังผูกพยาบาทอยู่

ในปี ค.ศ.919 จักรพรรดิ Daigo ทรงโปรดให้ Nakahira Fujiwara เดินทางไปยัง Dazaifu ทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณให้สู่สุคติ ซึ่งกลับมาจุติใหม่ในฐานะของเทพเจ้าที่เรียกว่า Tenjin ตามแนว คิดของลัทธิชินโตและสร้างศาลเจ้าชื่อว่า Anrakuji Tenmangu ไว้ที่สุสานของ Michizone Sugawara นอกจากนี้ในปี ค.ศ.947 ยังได้สร้างศาลเจ้า Kitano Tenmangu ขึ้นอีกแห่งในเกียวโตอุทิศให้กับ Michizone Sugawara เพื่อเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจของประชาชนในเมืองหลวง

นับแต่นั้นมาความหวาดกลัวต่อปรากฏการณ์ ดังกล่าวเริ่มค่อยๆ หมดไปจนกระทั่งในปี ค.ศ.1480 มีนักบวชในนิกาย Zen และนักกวี Renga ชื่อ Iio Sougi เดินทางมานมัสการยังศาลเจ้า Anrakuji Tenmangu พร้อมทั้งชื่นชมปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในผลงานกวีของ Michizone Sugawara จึงยกย่อง ให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา

เมื่อเข้าสู่สมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) รัฐบาลได้รวบรวมและจัดระบบระเบียบของศาลเจ้าชินโตทั่วประเทศในปี ค.ศ.1871 และเปลี่ยนชื่อจาก Anrakuji Tenmangu เป็น Dazaifu Tenmangu ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แม้ปัจจุบันจะมีศาลเจ้า Tenmangu หลาย ร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นก็ตาม Dazaifu Tenmangu ถือเป็นหนึ่งในสาม Tenmangu ที่สำคัญที่สุด ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ที่เดินทางมาสักการะ ยังศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนโดยเฉพาะช่วง ตั้งแต่การกราบไหว้ขอพรในช่วงปีใหม่ที่เรียกว่า Hatsumoude จนถึงก่อนหน้าการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเนื่องเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า Dazaifu Tenmangu เป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงเรื่องการศึกษามากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น สามารถเดินทางอย่างสะดวกโดย รถไฟ Nishitetsu จากสถานี Fukuoka ถึงสถานี Dazaifu ได้ภายใน 20 นาทีแล้วเดินต่อไปยังศาลเจ้าซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 250 เมตรเท่านั้น

วิหารเอกของ Dazaifu Tenmangu ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันเริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1591 แทนวิหารหลังเดิมซึ่งเสียหายจากสงครามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัย Azuchi-Momoyama (ค.ศ.1573-1603) และต่อมาได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง บริเวณด้านหน้าของ วิหารเอกนี้ประดับด้วยต้นบ๊วยทั้ง 2 ข้าง ด้านขวาเป็น พันธุ์ Tobiume ที่เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ที่ Michizone นำมาจากเกียวโต

ภายในบริเวณศาลเจ้ายังมีสวนบ๊วยประมาณ 6,000 ต้น (กว่า 200 สายพันธุ์) ซึ่งจะเริ่มบานตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์รับเทศกาล Setsubun* อันเป็นช่วงเวลาที่ เหมาะเจาะสำหรับผู้สมหวังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้และกลับมาสักการะยังศาลเจ้าแห่งนี้ร่วมกับครอบครัว หรือเพื่อนฝูงที่มาร่วมแสดงความยินดีดื่มเหล้าสาเกฉลอง ใต้ต้นบ๊วยพร้อมกับขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลชีวิต เตรียมรับฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้

อ่านเพิ่มเติม:
* นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับกุมภาพันธ์ 2550 “Setsubun” หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=56097  


« Last Edit: October 04, 2012, 10:28:15 AM by webdesign »