Author Topic: ข่าวล่าสุด นโยบาย ลดคืนภาษี รถยนต์คันแรก วันที่ 16 กันยายน 2554  (Read 6435 times)

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
ข่าวล่าสุด นโยบาย ลดคืนภาษี รถยนต์คันแรก วันที่ 16 กันยายน 2554

กระทรวงการคลังยืนยัน นโยบายรถคันแรกคืนเงินไม่ได้แทรกแซงราคาตลาด ด้านอธิบดีสรรพสามิต ย้ำไม่ผิดกฎการค้าโลก เป็นการคืนเงินไม่ได้คืนภาษี เตรียมหารือไฟแนนซ์-ผู้ประกอบการอีกรอบ เคลียร์รายละเอียดที่ยังสวนทางเห็นไม่ตรงกัน ยันไม่สามารถนำเงินคืน ไปชำระหนี้ไฟแนนซ์แทนกรณีผิดเงื่อนไข ด้าน “บุญทรง-อธิบดีกรมสรรพากร” ถก “ยิ่งลักษณ์” ดันมาตรการลดภาษีบ้านหลังแรก-เงินเดือน 1.5 หมื่น เข้าครม. 20 ก.ย.นี้ ส่วน “ลูกจ้าง” เซ็ง หลัง “รมว.แรงงาน” รับกลางสภา ขึ้นรายได้ขั้นต่ำ300 บาททั่วประเทศใช้เวลา 3-4 ปี ปลัดแรงงานยันค่าจ้าง 300 บาท ไม่ล้ม ชงปรับฐานค่าแรงทั่วประเทศ 40%

ที่กรมสรรพสามิต เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ก.ย. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ จะยื่นฟ้องรัฐบาล เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเงินคืนให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกนั้น ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้า เนื่องจากเป็นนโยบายภายในประเทศ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนมีรถยนต์คันแรก โดยเน้นที่ผู้ซื้อเป็นหลัก ขณะที่กระบวนการซื้อขายยังเป็นไปตามปกติ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีรถยนต์คันแรก ดังนั้นจึงกำหนดไปที่รถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งเน้นไปที่ผู้ซื้อ ไม่ได้เน้นที่ผู้ประกอบการ จึงไม่ได้มองว่ามีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

“การที่ค่ายรถยนต์เตรียมฟ้องร้องรัฐบาล จะขอดูก่อนว่าฟ้องร้องรูปแบบไหน อย่างไร แล้วจึงจะทบทวนรายละเอียดของมาตรการ แต่ขณะนี้ยืนยันว่า รถที่ซื้อได้นั้น ยังเป็นเฉพาะรถยนต์ที่ประกอบในประเทศเท่านั้น ส่วนรถยนต์ขนาดเล็กที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซี นำเข้าจากต่างประเทศนั้น จะขอพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ผมไม่กังวลที่ค่ายรถยนต์บางแห่งเตรียมยื่นฟ้องร้องรัฐบาล” นายบุญทรง กล่าว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวยืนยันว่า การดำเนินนโยบายคืนเงินให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ไม่ได้ผิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) แน่นอน เพราะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอัตราภาษี แต่เป็นการคืนเงินให้ ซึ่งตามเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุมครม. ใช้คำว่าคืนเงิน ไม่ใช่คืนภาษี ดังนั้นจึงมั่นใจว่าไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้า เพราะยังเก็บภาษีเช่นเดิม ส่วนที่ยังมีความสับสนในการยื่นขอคืนเงินอยู่ว่า จะต้องใช้ใบจองรถยนต์มาเป็นเอกสารยืนยัน 1 ใน 7 หลักฐานด้วยหรือไม่นั้น จะหารือร่วมกับนายบุญทรงอีกครั้ง โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับการคืนเงินในรูปแบบของเช็ค สั่งจ่ายโดยกรมบัญชีกลาง และครม. ได้อนุมัติงบ 100 ล้านบาท ให้กรมเป็นค่าบริหารจัดการตามนโยบายคืนเงินรถคันแรก โดยอนาคตอาจต้องของบเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการติดตามทวงคืนเงิน กรณีที่ผู้ซื้อรถทำผิดเงื่อนไข

“กรมจะนำงบที่ได้ มาพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของกรมขนส่งทางบก เพื่อตรวจดูว่า ผู้ที่ขอใช้สิทธินั้น เป็นผู้ที่มีรถคันแรกจริงหรือไม่ และแม้ว่ากรมขนส่งจะยืนยันว่า ฐานข้อมูลนี้ตรวจสอบประวัติผู้ซื้อได้หลังปี 49 แต่เชื่อว่าจะมีแนวทางอื่นร่วมตรวจสอบด้วย เช่น การยื่นเสียภาษีป้ายรถยนต์ในแต่ละปี พร้อมกันนี้ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ กรมสรรพสามิตจะหารือร่วมกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (ลีสซิ่ง) และสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์อีกครั้งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียด กรณีที่ผู้ซื้อผ่อนชำระไม่ได้ และถือครองรถไม่ถึง 5 ปี หรือการปลดล็อกให้ลีสซิ่งสามารถยึดรถไปขายทอดตลาดได้ แต่เบื้องต้นกรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง และลีสซิ่งต้องติดตามทวงเงินคืนร่วมกัน โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า ในการจะซื้อขายรถนั้นถือเป็นเรื่องที่บริษัทเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง ต้องประเมินและตรวจสอบคุณสมบัติ หลักฐานของผู้ซื้ออยู่แล้วว่ามีความสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ และหากผิดนัดชำระภายหลังได้รับเงินคืนจากรัฐบาลไปแล้ว เป็นหน้าที่ของลีสซิ่ง ต้องไปติดตามเรียกเก็บค่างวดในส่วนที่เหลือเอง โดยทำหน้าที่เพียงปลดล็อกการโอนกรรมสิทธิ์ให้นำรถยนต์ไปขายต่อได้เท่านั้น เพราะกรมฯ จะคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อ ไม่ใช่สถาบันการเงิน ถ้าผู้ซื้อผ่อนชำระค่างวดไม่ได้ หรือเกิดเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ ไม่ว่ากรณีใด ต้องคืนเงินให้แผ่นดิน จะนำไปจ่ายเป็นค่างวดให้ลีสซิ่งไม่ได้ ทั้งนี้กรมบัญชีกลางในฐานะผู้ออกเช็ค มีหน้าที่ติดตามเรียกเก็บเงินคืนจากผู้เข้าร่วมโครงการที่ทำผิดเงื่อนไขคืนให้รัฐบาล ไม่สามารถนำเงินส่วนที่เรียกคืนไปชำระค่างวดที่เหลือแทนผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระค่างวดรถได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารค่ายรถยนต์รายใหญ่ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน มีความคิดเห็นตรงกันว่า ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ซึ่งเป็นวันเริ่มใช้นโยบายรถคันแรกเป็นวันแรก ประชาชนจะยังไม่แห่กันไปที่โชว์รูมรถยนต์เพื่อซื้อทันที เนื่องจากโครงการมีระยะเวลายาวไปถึง 31 ธ.ค. 55 ผู้ซื้อยังมีเวลาตัดสินใจเลือกรถที่ตัวเองชอบ ต้องการใช้จริง ๆ อีกนาน อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์ได้เตรียมความพร้อม โดยแจ้งไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว ให้เตรียมตัวเรื่องการชี้แจงลูกค้าเกี่ยวกับวิธีการซื้อตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด

ที่ จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณโชว์รูมรถยนต์ทุกยี่ห้อภายในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โชว์รูมแต่ละแห่งเร่งทำความสะอาดพร้อมเพิ่มพนักงานขายและเตรียมเอกสารเงื่อนไขการเปิดจองรถยนต์คันแรกตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดจองวันแรกในวันที่ 16 ก.ย.นี้ นอกจากนี้ทุกโชว์รูมเน้นการโชว์รถเก๋งขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี เพื่อจูงใจกลุ่มหนุ่ม-สาวที่เริ่มทำงานและจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของรถคันแรก ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โชว์รูม บริษัทโตโยต้าแก่นนคร จำกัด ที่มีรถยนต์เก๋งโตโยต้า ยาริส และโตโยต้า วีออส จอดโชว์ 5 คัน มีประชาชนจำนวนมากได้ทยอยมาขอดูรถ พร้อมกับสอบถามพนักงานขายเพื่อต้องการมีรถคันแรกตามนโยบายของรัฐบาล

ที่รัฐสภา เวลา 13.00 น. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง พร้อมด้วยอธิบดีกรมสรรพากร ได้เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนออกเดินทางไปเยือนกัมพูชา ที่ห้องรับรอง โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า นายบุญทรง และอธิบดีกรมสรรพากร ได้เข้าไปหารือถึงมาตรการลดภาษีบ้านหลังแรก และการขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีแรกเข้า 1.5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะเร่งนำเข้าพิจารณาในครม.ให้ทันวันที่ 20 ก.ย.นี้

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณากระทู้ถามของ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับประชาชนว่าจะขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ทันที 300 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลกลับระบุว่าเป็น “การเพิ่มรายได้แทน” นอกจากนี้ยังเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลประกาศจะนำร่องค่าจ้าง 300 บาทเพียง 7 จังหวัด โดยจะเพิ่มขึ้นให้ 40% จะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งถ่างออกไปมากขึ้นอีก โดยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ยืนยันว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาททำทันทีอย่างแน่นอนโดยตอนนี้กำลังดูความเป็นไปได้ภายใต้ของกรอบกฎหมาย อย่างไรก็ตามนโยบายนี้อาจจะมีความล่าช้าเนื่องจากปฏิทินการจัดงบรายจ่ายปี 55 ล่าช้าออกไปจากเดิม และคาดว่าการทำงบรายจ่ายปี 55 จะผ่านในปีหน้า

ทั้งนี้เรื่องมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 ลดลงเหลือ ร้อยละ 23 และในปีต่อไปจะลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ ร้อยละ 20 รัฐบาลจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะนำร่อง 7 จังหวัดก่อน ส่วนอีก 3-4 ปีคาดว่าจะจ่ายรายได้ 300 บาท ได้ทุกจังหวัดทั้งประเทศ ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยกับการนำร่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ใน 7 จังหวัด เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ว่าไม่มีปัญหา เพราะตนจะนำจุดยืนเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 40% จากฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดิมใน 7 จังหวัดในวันที่ 1 ม.ค. 55 ไปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางสิ้นเดือนก.ย.นี้ ซึ่งการพิจารณาจะเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ให้ทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมลงมติตามระบบไตรภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนราชวิถี เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานของกระทรวงฯ มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ให้การต้อนรับ ขณะที่นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้บรรยายภาพรวมการทำงานของกระทรวงฯ ทั้งนี้ ระหว่างการรายงานภารกิจ นายสันติ กล่าวว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีสถานธนานุเคราะห์หรือโรงรับจำนำซึ่งอยู่ในความดูแล 33 แห่งที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกำลังจะเปิดโรงรับจำนำแห่งใหม่ที่ จ.นนทบุรี ในเดือน ธ.ค.นี้

นายสันติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีประชาชนในหลายจังหวัดร้องเรียนเข้ามามากถึงปัญหาไม่มีโรงรับจำนำของ พม.ประจำในต่างจังหวัด ทำให้ต้องหันไปกู้ยืมเงินหนี้นอกระบบ ซึ่งการที่ไม่มีโรงรับจำนำของ พม.อยู่ในต่างจังหวัด เป็นเพราะติดขัดข้อกฎหมายที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลเท่านั้น แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อขอให้ พม.จัดตั้งโรงรับจำนำเพื่อให้บริการประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งตนตั้งเป้าที่จะให้มีโรงรับจำนำจังหวัดละ 2 แห่งทั้งประเทศ ภายใน 6 เดือน โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานธนานุเคราะห์ไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดในเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 1 เดือน.