Author Topic: ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?  (Read 6902 times)

mr_a

  • Guest
ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

การหักลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

1. การหักลดหย่อนในกรณีทั่วไป

    1.1 ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท (ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน หรือไม่ก็ตาม)

    1.2 สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
      (1) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมาย การสมรส ไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษี ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
      (2) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อนจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี ตัวอย่าง สามีภริยาแต่งงานครบปีภาษีและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทที่ 1 กรณีดังกล่าว ภริยาสามารถแยกคำนวณภาษีต่างหากจากสามีได้โดยชอบ ทั้งสามีภริยาจึงไม่มีสิทธินำคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ แต่หากภริยามีเงินได้ประเภทอื่น (2-8) ให้สามีนำเงินได้ของภริยามารวมคำนวณและมีสิทธินำคู่สมรสมาหัก ลดหย่อนได้

    1.3 การหักลดหย่อนบุตร ให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มี เงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย

      โดยมีเงื่อนไขว่าบุตรที่เกิด ก่อนหรือ ในพ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรม ก่อน พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท บุตรที่เกิด หลัง พ.ศ.2522 หรือที่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรมในหรือหลัง พ.ศ. 2522 คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
      การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะ บุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตร ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย
      การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศให้ลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท หรือเป็น ผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้ หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 ให้ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
      การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้ในฐานะเดียว

    1.4 เบี้ยประกันภัย  ที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
       ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตของสามีหรือภริยานั้นตามเกณฑ์ข้างต้น
        การฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว ก็อยู่ในข่ายที่จะขอหักลดหย่อนตามเกณฑ์นี้ได้ด้วย

    1.5 เงินสะสม ที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยนำจำนวนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวหักจากเงินได้พึงประเมิน ก่อนหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 490,000 บาท
      ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข. (ถ้ามี) แล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องจ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
      ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท

    1.6 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังนี้
      (1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่เขารับช่วงสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมดังกล่าว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
      (2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง
      (3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม
      (4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม(3)นั้นเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้าง ซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำหรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้
      (5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง สำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)
      (6) ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
      (7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ให้หักลดหย่อนได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท
      (8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
      (9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ดังนี้
            (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยา มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
            (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และสามีภริยายื่นรายการโดยรวมคำนวณภาษี ให้หักลดหย่อนรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
            (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้ มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน และภริยายื่นรายการโดยแยกคำนวณภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
      (10) กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
      ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวข้างต้น ให้หมายความรวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น
      ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด จากผู้ให้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้นด้วย

    1.7 เงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการ ประกันสังคมตามจำนวนที่จ่ายจริง ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ข้างต้นและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วย สำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตามเกณฑ์ข้างต้น

    1.8 ค่าลดหย่อนบิดามารดา กรณีผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่มีเงินได้รวมคำนวณภาษี หรือคู่สมรสไม่มีเงินได้ อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้มีเงินได้และ คู่สมรสมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส จะต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว


    1.9 ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ บิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้ เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนละ 60,000 บาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการ และทุกพลพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ที่อธิบดีประกาศกำหนด
           การหักลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม ให้หักได้ในฐานะบุตรบุญธรรมเพียงฐานะเดียว
ทั้งนี้ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ.2552  ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
    1.10 เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา  ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว


    1.11 เงินบริจาค  เมื่อหักลดหย่อนต่าง ๆ หมดแล้ว เหลือเท่าใดให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับ เงินบริจาค เงินบริจาคที่หักค่าลดหย่อนได้นั้นผู้มีเงินได้ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่การกุศลสาธารณะ โดยหักได้ เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว
การบริจาค ได้แก่
(1) การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ต้องเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)
(2) การบริจาคเงินให้แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา
(3) การบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในโครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 90 พรรษา
(4) การบริจาคเงินให้แก่กองทัพอากาศในโครงการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริฯ
(5) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
(6) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
(7) การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
(8) การบริจาคเงินให้แก่โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “กาญจนาภิเษก”
(9) การบริจาคเงินให้แก่โครงการร้อยใจช่วยเยาวชนไทยในภาวะวิกฤต
(10) การบริจาคเงินให้แก่โครงการโพธิ์ทองของชาวไทย
(11) การบริจาคเงินให้แก่โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนม์มายุ 72 พรรษา
(12) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการที่จัดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
(13) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
(14) การบริจารเงินเพื่อการกีฬา ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือสมาคมกีฬาสมัครเล่น
(15) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมาชาติอื่น
(16) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล

2. การหักลดหย่อนในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ 60,000 บาท แต่ถ้าความเป็นสามีหรือภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี หรือภริยาแยกคำนวณเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ต่างหากจากสามี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท และสำหรับการหักลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้อื่น ๆ ให้ต่างฝ่ายต่างหักได้กึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกรณีเฉพาะในปีภาษีนั้น

3. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ บุตร และการศึกษาของบุตรของผู้มีเงินได้

4. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

5. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้30,000 บาท

6. การหักลดหย่อนในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หัก ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนที่อยู่ในประเทศไทยคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท


mr_a

  • Guest
อย่าคิดว่าการเสียภาษีเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวคุณ และไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเกี่ยวกับภาษีก็ได้เพราะความเป็นจริงภาษี คือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนค่ะ พูดถึงเรื่องเสียภาษี บางคนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนักเพราะเข้าใจว่าในแต่ละเดือนหรือในแต่ละปีได้เสียภาษีเป็นประจำอยู่แล้ว บางคนยังละเลยไม่ยื่นภาษีประจำปีจนกรมสรรพากรต้องเรียกเก็ยย้อนหลังก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ภาษีนั้นคือรายการหนึ่งที่ต้องอยู่ในบัญชีรายจ่ายของครอบครัว ดิฉันอยากจะบอกว่า หน้าที่และสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรนั้น คือสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเรียนรู้

เสียภาษีคือหน้าที่

หากพูดถึงเรื่องการเสียภาษี อาจทำให้หลายคนมีรายได้จำนวนมากคิดและรู้สึกเสียดายเงินขึ้นมา แต่คุณก็ต้องคืนเงินส่วนหนึ่งจากที่ได้มามากนั้นให้กับประเทศเป้นจำนวนมากด้วยเช่นกันขอให้ความสำคัญและรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะใครก็ตามที่เป็นบุคคลที่มีรายได้ก็จะต้องถูกหักภาษี หากใครก็ตามที่กำลังรู้สึกเสียดายเงินที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ดิฉันขอให้เลิกคิดเสียดายเงินได้แล้วค่ะ เพราะประเทศเราจะเจริญก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายภาษีของประชาชนนั่นเองนั่นหมายความว่าการเสียภาษีตามกฎหมายนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ภาษีสังคมนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวของคุณเองว่าจะหลบหลีกได้ยอดเยี่ยมแค่ไหน!

ดิฉันเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณะสมบัติต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้น ส่วนหนึ่งมาจากเงินภาษีของคุณ อย่านำเอารายจ่ายที่ถูกหักเพียงน้อยนิดในแต่ละเดือนมานั่งคำนวณให้ปวดหัวดีกว่าค่ะ สิทธิประโยชน์จากการเสียภาษีนั้นมีมากกว่าที่คุณสัมผัสได้ แต่ใครก็ตามที่รู้สึกว่าต้องรับภาระเกี่ยวกับภาษีนั้นมีมากกว่าที่คุณสัมผัสได้ แต่ใครก็ตามที่รู้สึกว่าต้องรับภาระเกี่ยวกับภาษีมากมายเหลือเกิน อย่าคิดเลี่ยงหรือหลบหลีกที่จะจ่ายภาษีอีกต่อไป เพราะฉบับนี้ดิฉันขอบอกให้คุณรู้ว่า ทุกๆ คนที่เสียภาษีจะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

6 สิทธิ..ลดหย่อนภาษี

ก่อนที่จะรู้ว่าคุณได้สิทธิ์ในการลดหย่อนอย่างไรบ้าง ดิฉันขอทำความเข้าใจถึงหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ก่อน เพราะการจัดเก็บภาษีนั้นครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคลประเภทต่างๆ ซึ่งก็มีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ไม่ว่าคุณจะจ่ายภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนดค่ะ มาถึงตรงนี้อาจทำให้หลายคนยิ้มออกแล้ว เรามาดูกันต่อว่าคุณจะสามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีได้ในกรณีไหนบ้าง

การลดหย่อนในกรณีมีบุตร ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมก็ตาม สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ได้ไม่เกิน 3 คน และอายุไม่เกิน 25 ปี หากยังศึกษาอยู่ในมหาวิทลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศก็สามารถลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่รีบศึกษาเรื่องนี้กันได้แล้ว
ผู้ที่ทำประกันชีวิต สามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่งค่ะ เพราะเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 40,000 บาทที่จ่ายไป เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ดังนั้นทุกครั้งที่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีก็อย่าลืมค้นหาใบเสร็จรับเงินแนบไปด้วยทุกครั้ง
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น สามารถนำมาหัก ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อปี
การบริจาคเงิน ไม่ว่าคุณจะใจบุญแค่ไหนก็ตาม หลังบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิหรือสถานที่ต่างๆ แล้ว ถ้าสามารถขอหลักฐานการบริจาคได้จะดีมากค่ะ เพราะเงินที่บริจาคแก่การกุศล ก็นำมาหักภาษีได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้นั่นหมายความว่าการบริจาคทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือองค์กรก็จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวเช่นกัน
สมาชิกกองทุนประกันสังคม ก็จะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย เพราะเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ทั้งของคุณพ่อและคุณแม่ หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานแต่ยังรักษาสิทธิ์การเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
ผู้ที่มีหน้าที่เลี้ยงดูบุพการี สำหรับเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และเชื่อว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนสำหรับคนส่วนใหญ่ หากวันนี้คุณมีหน้าที่ต้องดูแลบุพการี ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีได้จำนวน 3 หมื่นบาท แต่กรมสรรพากรให้สิทธิ์นี้กับลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น ดิฉันขอแนะนำให้คุณสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกรมสรรพากร เพื่อจะได้ศึกษาเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นเงินทำบุญ เลี้ยงดูบุตรและภรรยา ค่าเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ สามารถนำมาหักและลดหย่อนภาษีได้ 5 หมื่นบาท นอกจากนี้แล้วเงินลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่สรรพากรได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามเงินลงทุนจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ต่อปี

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงเห็นความสำคัญของการจ่ายภาษีมากขึ้น อย่าหลบหลีกหรือเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีเงินได้อีกต่อไปเลยค่ะ เพราะกฎหมายนั้นได้ให้สิทธิประโยชน์ของทุกๆ คนที่จ่ายภาษีเช่นกัน สิ้นปีนี้ก็อย่าลืมคำนวณรายได้และหักลดหย่อนกับสิทธิพิเศษที่คุณได้รับนะคะ

(ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์, นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 11 เล่มที่ 129 กรกฏาคม 2548)
หนังสือนิตยสารดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อคนไทยหลายๆ คน คุณจึงไม่ควรพล

mr_a

  • Guest
   มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะต้องเสียภาษีที่เรียกว่าภาษีรายได้บุคคลธรรมดา มีข้อพึงสังเกตไว้ว่าบางคนได้คืนภาษีแต่บางคนต้องจ่ายเพิ่ม เรามีข้อปฏิบัติหลายอย่างมาฝาก ที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้มากทีเดียว

          สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อคุณหักเงินสะสมเข้ากองทุน 3-15 % ของเงินเดือน คุณจะใช้หักภาษีได้มากถึง 300,000 บาท ต่อปี แถมด้วยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้คุณ 3–15 % ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยที่คุณไม่ต้องเสียภาษี เรียกว่าได้กำไรสองต่อ

          หรือถ้าคุณทำธุรกิจที่เป็นนายตัวเอง ให้เลือกซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่เรียกว่า RMF แทนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ซื้อไม่เกิน 15 % ของรายได้ ปีละไม่เกิน 300,000 บาท สามารถใช้ลดภาษีได้เช่นกัน

         ซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว กรมสรรพากรอนุญาตให้คุณซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว LTF (Long Term Equity Fund) ที่มีบลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) เป็นผู้บริหาร สามารถหักภาษีได้ปีละ 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 15%

         สละโสดลดภาษี สาวๆ เลือกเฟ้นชายหนุ่มมาแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายมีใบทะเบียนสมรสชัดเจน จะมีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และถ้ามีบุตรหรือบุตรบุญธรรมจะลดหย่อนได้ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน และบุตรต้องอายุไม่เกิน 25 ปี

         ส่วนค่าลดหย่อนบิดามารดา บิดามารดาจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ลูกสามารถใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท แต่บิดามารดาจะต้องออกหนังสือรับรองด้วยว่าบุตรคนไหนเป็นผู้อุปการะ ซึ่งจะอุปการะได้คนเดียวเท่านั้น

          ทำประกันชีวิต ตามกฎหมายคุณจะต้องทำประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีเป็นต้นไป และต้องเป็นผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น โดยเบี้ยประกันส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เป็นเงินที่ได้ยกเว้นภาษี

          ใจบุญบริจาคเงิน หลังจากบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิหรือสถานที่ต่างๆ แล้ว สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนหักภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10 % ของรายได้

          ถ้ายังงงไม่หายให้เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือ call Center 0-2272-8000



ข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
ฉบับวันพุธ ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551