คุณเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือเปล่า
Easy AdSense by Unreal
คน ส่วนใหญ่คุ้นเคยดีกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ดังนั้นเมื่อมีอาการเรอเปรี้ยว หรือมีรสขมในปาก ปวดแสบในท้องบริเวณลิ้นปี่ ก็มักจะเหมาว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะ ทั้งที่จริงแล้ว คุณอาจจะเป็น “โรคกรดไหลย้อน”
ตามปกติแล้ว ช่วงต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะมีกล้ามเนื้อหูรูดที่ทำหน้าที่ปิดกั้น ไม่ให้อาหารหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร
โรคกรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ได้ ซึ่งอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติไป
กรดไหลย้อน
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ที่สำคัญได้แก่ ความ อ้วน การตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่ และอาหารบางประเภท เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด ทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม อาหารมัน อาหารทอด ตลอดจนช็อกโกแลต หอม กระเทียม มะเขือเทศ และผลไม้รสเปรี้ยว
ภาวะกรดไหลย้อนกลับสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคกรดไหลย้อนเสมอไป จะสรุปได้ว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนก็ต่อเมื่อเป็นมานานต่อเนื่องและเกิดขึ้น มากกว่า 2 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย
อาการของกรดไหลย้อน แบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ
- อาการทางหลอดอาหาร จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ แสบลิ้นเรื้อรังโดยเฉพาะในตอนเช้า จุกแน่นหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาการมักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก เวลาโน้มตัวไปข้างหน้า ยกของหนัก หรือนอนหงาย ที่สำคัญคือจะมีอาการปวดแสบบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่หรืออาจลามขึ้นมาที่คอ เรอเปรี้ยวหรือรู้สึกขมในปาก
- อาการทางกล่องเสียงและปอด จะมีเสียงแหบเรื้อรังหรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง ไอหรือสำลักในเวลากลางคืน กระแอมบ่อยๆ บางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้
ภาวะอาการเหล่านี้อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ หรือเป็นมากจนเกิดแผล มีเลือดออก หรือทำให้ปลายหลอดอาหารตีบทำให้กลืนอาหารลำบาก หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้โรคปอดแย่ลง เช่น โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น ไอเรื้อรัง หรือปอดอักเสบ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยให้อาการของโรคกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูง ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มาก
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดกรดมาก และทำให้กล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงสุรา เบียร์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ซึ่งจะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น
- งดอาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด และอาหารที่ปรุงด้วยหัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ผลไม้รสเปรี้ยว รวมทั้งช็อกโกแลต
- งดอาหารก่อนนอน 3 ชั่วโมง เพราะทุกครั้งที่รับประทานอาหาร กระเพาะจะหลั่งกรดออกมาเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่กรดจะไหลย้อนกลับ
- รับประทานอาหารแต่พออิ่ม หรืออาจแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ กินทีละน้อย แต่กินบ่อยๆ
- นอนให้ศีรษะสูงประมาณ 6-10 นิ้ว โดยหนุนที่ขาเตียง ไม่ควรใช้หมอนหนุนที่ศีรษะเพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น
- ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อไม่ให้เกิดความดันในช่องท้อง
- หากอาการไม่รุนแรงนัก การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องจะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น
โรค กรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายได้โดยการรับประทานยาในกลุ่มยาลดกรดและยา ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร รวมถึงยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง และควรพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือน กว่าอาการจะดีขึ้น
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น หรือทำให้หูรูดหย่อน เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน NSAID และวิตามิน C
ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เมื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยาไม่ได้ผล จึงจะใช้วิธีการผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อน