Author Topic: ประเทศลาว  (Read 17524 times)

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
ประเทศลาว
« on: September 07, 2010, 04:03:12 PM »
ประเทศลาว หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว: ສາທາລະນະລັດປະຊາທິປະໄຕປະຊາຊົນລາວ, อักษรย่อ: ສປປລ.; อังกฤษ: Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก

ในภาษาอังกฤษ คำว่าลาว ที่หมายถึงประเทศสะกดว่า "Laos" และ ลาวที่หมายถึงคนลาว และภาษาลาวใช้ "Lao" ในบางครั้งจะเห็นมีการใช้คำว่า "Laotian" แทนเนื่องจากป้องกันการสับสนกับเชื้อชาติลาว ที่สะกด "Lao ethnic group"
[แก้] ภูมิศาสตร์
[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ

ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 km² โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ดังนี้

    ประเทศจีนทางด้านทิศเหนือ (1 กิโลเมตร)
    ประเทศไทยทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก (1,754 กิโลเมตร)
    ประเทศกัมพูชาทางด้านทิศใต้ (541 กิโลเมตร)
    ประเทศเวียดนามทางด้านทิศตะวันออก (2,130 กิโลเมตร)
    ประเทศพม่าทางด้านทิศตะวันตก (235 กิโลเมตร)

ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กว่ากิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร

ภูมิประเทศของลาวอาจแบบได้เป็น 3 เขต คือ

    เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ
    เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้)
    เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่างๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสะหวันนะเขด ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาสักทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันแล้ว จะมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด โดยจุดที่สูงที่สุดของประเทศลาวอยู่ที่ภูเบี้ย ในแขวงเชียงขวาง วัดความสูงได้ 2,817 เมตร (9,242 ฟุต)

ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศคือแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่นๆ ยังได้แก่

    แม่น้ำอู (พงสาลี - หลวงพะบาง) ยาว 448 กิโลเมตร
    แม่น้ำงึม (เชียงขวาง-เวียงจันทน์) ยาว 353 กิโลเมตร
    แม่น้ำเซบั้งเหียง (สะหวันนะเขด) ยาว 338 กิโลเมตร
    แม่น้ำทา (หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว) ยาว523กิโลเมตร
    แม่น้ำเซกอง (สาละวัน-เซกอง-อัดตะบือ) ยาว 320 กิโลเมตร
    แม่น้ำเซบั้งไฟ (คำม่วน-สะหวันนะเขด) ยาว 239 กิโลเมตร
    แม่น้ำแบ่ง (อุดมไซ) ยาว 215 กิโลเมตร
    แม่น้ำเซโดน (สาละวัน-จำปาสัก) ยาว 192 กิโลเมตร
    แม่น้ำเซละนอง (สะหวันนะเขด) ยาว 115 กิโลเมตร
    แม่น้ำกะดิ่ง (บอลิคำไซ) ยาว 103 กิโลเมตร
    แม่น้ำคาน (หัวพัน-หลวงพระบาง) ยาว 90 กิโลเมตร

[แก้] ลักษณะภูมิอากาศที่ลาว

สปป. ลาวอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน มีลมมรสุมแต่ไม่มีลมพายุ สำหรับเขตภูเขาภาคเหนือ และ เขตเทือกเขา อากาศมีลักษณะกึ่งร้อนกึ่งหนาว อุณหภูมิสะสมเฉลี่ยประจำปีสูงถึง 15-30 องศาเซลเซียส และความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมีประมาณ 10 องศาเซลเซียส จำนวนชั่วโมงที่มีแสงแดดต่อปีประมาณ 2,300 - 2,400 ชั่วโมง (ประมาณ 6.3 - 6.5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมีประมาณร้อยละ 70 - 85 ปริมาณน้ำฝนในฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม) มีร้อยละ 75 - 90 ส่วนในฤดูแล้ง (ตั้งแต่เดือนพฤษจิกายน ถึงเมษายน) ปริมาณน้ำฝนมีเพียงร้อยละ 10 - 25 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีของแต่เขตก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เขตเทือกเขาบริเวณทางใต้ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 300 เซนติเมตร ขณะที่บริเวณแขวงเซียงขวาง
แขวงหลวงพะบาง แขวงไซยะบุลี ได้รับเพียงแค่ 100 - 150 เซนติเมตร ส่วนแขวงเวียงจันและสะหวันนะเขดในช่วง 150 - 200 เซนติเมตร เช่นเดียวกับ
แขวงพงสาลี แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้ว
[แก้] ประวัติศาสตร์

ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์ลาว และ อาณาจักรล้านช้าง
[แก้] สมัยศักดินา

ประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของลาว เชื่อว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้ามีตำนานโดยขุนบรม และขุนลอ มีลูกสืบหลานต่อๆ กันมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ ที่สำคัญ เช่น

    พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระองค์มีความสัมพันธไมตรีที่แนบแน่นกับกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
    พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช รัชสมัยของพระองค์นับเป็นยุคทองของราชอาณาจักรล้านช้าง

ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกันในลักษณะนี้ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2321

สยามได้ปกครองดินแดนลาวทั้งสามส่วนในฐานะประเทศราชรวม 114 ปี ในระยะเวลาดังกล่าวอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2371 เนื่องจากในปี พ.ศ. 2369 พระเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้พยายามทำสงครามเพื่อตั้งตนเป็นอิสระจากสยาม เนื่องจากไม่อาจทนต่อการกดขี่ของฝ่ายไทยได้ ทว่าหลังการปราบปรามของกองทัพไทยอย่างหนัก พระองค์เห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จจึงตัดสินพระทัยหลบหนีไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนามจนถึง พ.ศ. 2371 พระองค์จึงได้กลับมายังกรุงเวียงจันทน์พร้อมกับขบวนราชทูตเวียดนามพามาเพื่อขอสวามิภักดิ์สยามอีกครั้ง แต่พอสบโอกาสพระองค์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน กองทัพสยามรวบรวมกำลังพลและยกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งจนราบคาบ จนพระเจ้าอนุวงศ์ต้องหลบหนีไปยังเวียดนามและในคราวนี้เองที่พระองค์ทรงถูกเจ้าเมืองพวนจับกุมตัวและส่งลงมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มากจึงทรงให้คุมขังเจ้าอนุวงศ์ประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง และตั้งศูนย์กลางการปกครองฝ่ายไทยเพื่อดูแลอาณาเขตของอาณาจักรเวียงจันทน์ที่เมืองหนองคายแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์
[แก้] สมัยอาณานิคม การประกาศเอกราช และสงครามกลางเมือง

ในปี พ.ศ. 2436 สยามได้เกิดข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสในเรื่องอำนาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จากการใช้เล่ห์เหลี่ยมของโอกุสต์ ปาวีกงสุลฝรั่งเศส โดยการใช้เรือรบมาปิดอ่าวไทยเพื่อบังคับให้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ดินแดนลาวเกือบทั้งหมดก็เปลี่ยนไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสในปีนั้นและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาภายหลังดินแดนลาวส่วนอื่นที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็ตกเป็นของฝรั่งเศสอีกในปี พ.ศ. 2450

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาในลาวและดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสอื่นๆ เมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ขบวนการลาวอิสระซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกู้เอกราชลาวในเวลานั้นประกาศเอกราชให้ประเทศลาวเป็นประเทศ ราชอาณาจักรลาว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็กลับเข้ามามีอำนาจในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากการที่เวียดมินห์ปลดปล่อยเวียดนามได้ จึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจฝรั่งเศสจนยอมให้ลาวประกาศเอกราชบางส่วนในปี พ.ศ. 2492 และได้เอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2496 ภายหลังฝรั่งเศสรบแพ้เวียดนามที่เดียนเบียนฟู ผู้ที่มีบทบาทในการประกาศเอกราชคือ เจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และ เจ้าสุภานุวงศ์ โดยมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ามหาชีวิต (พระมหากษัตริย์) จากอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเดิม และได้รวมทั้ง 3 อาณาจักรคือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และ ล้านช้างจำปาศักดิ์ เข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรลาว

พ.ศ. 2502 เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เสด็จสวรรคต เจ้าสว่างวัฒนาจึงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้ามหาชีวิตแทน เหตุการณ์ในลาวยุ่งยากมาก เจ้าสุภานุวงศ์ 1 ในคณะลาวอิสระประกาศตนว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าขบวนการปะเทดลาว ได้ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในป่า เนื่องจากถูกฝ่ายขวาในลาวคุกคามอย่างหนัก ถึงปี พ.ศ. 2504 ร้อยเอกกองแลทำการรัฐประหารรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ถูกกองทัพฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรุมจนพ่ายแพ้ กองแลต้องลี้ภัยไปสหรัฐจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้นบังคับให้ลาวต้องกลายเป็นสมรภูมิลับของสงครามเวียดนาม และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ภายใต้การแทรกแซงของชาติต่างๆ ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายโลกเสรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ก็ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาทรงยินยอมสละราชสมบัติ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงประกาศสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยยังคงแต่ตั้งให้อดีตเจ้ามหาชีวิตเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลระบอบใหม่ แต่ภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ได้กุมตัวอดีตเจ้ามหาชีวิตและมเหสีไปคุมขังในค่ายกักกันจนสิ้นพระชนม์ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมา
[แก้] สมัยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
Re: ประเทศลาว
« Reply #1 on: September 07, 2010, 04:03:22 PM »

สภาพการปกครอง และการบริหารด้านเศรษฐกิจของลาวเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในระยะหลังของทศวรรษ 1980 ต่อมาเมื่อเจ้าสุภานุวงศ์สละตำแหน่งจากประธาน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อจากเจ้าสุภานุวงศ์คือ ท่านไกสอน พมวิหาน และเมื่อท่านไกสอนถึงแก่กรรมกระทันหัน ท่าน หนูฮัก พูมสะหวัน ก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อมา ยุคนี้ลาวกับไทยเปิดสะพานมิตรภาพ ไทย - ลาว ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาท่านหนูฮักสละตำแหน่ง ท่านคำไต สีพันดอนรับดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อ จนถึงปี พ.ศ. 2549 ท่านคำไตลงจากตำแหน่ง ท่านจูมมะลี ไซยะสอน จึงเป็นผู้ที่รับตำแหน่งประธานประเทศลาวคนปัจจุบัน
[แก้] การเมือง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายบัวสอน บุบผาวัน
[แก้] สถาบันการเมืองที่สำคัญ

    พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
    สภารัฐมนตรี (สภาแห่งชาติแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี)
    สภาแห่งชาติลาว (ประชาชนเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติจากผู้ที่พรรคฯ เสนอ)
    แนวลาวสร้างชาติ
    องค์กรจัดตั้ง เช่น สหพันธ์วัยหนุ่มลาว (สหพันธ์เยาวชน) สหพันธ์แม่หญิงลาว (สมาคมสตรี) กรรมบาลลาว (สหพันธ์กรรมกร) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

[แก้] การจัดตั้งและการบริหาร

    หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น เมือง (ก่อนหน้านี้จัดให้หลายหมู่บ้านรวมกันเป็น ตาแสง มีตาแสงเป็นผู้ปกครอง หลายตาแสงรวมกันจึงเรียกว่า เมือง)
    หลายเมืองรวมกันเป็น แขวง
    "คณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน" มี นายบ้าน เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารของหมู่บ้าน
    "คณะกรรมการปกครองเมือง" มี เจ้าเมือง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารเมือง
    "คณะกรรมการปกครองแขวง" มี เจ้าแขวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารแขวง
    "คณะกรรมการปกครองนครหลวง" มี เจ้าครองนครหลวง เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหารนครหลวง
    "ระดับศูนย์กลาง" มีกระทรวง คณะกรรมการเป็นผู้ดูแลและบริหาร

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
Laos provinces.png
ด่านพรมแดนช่องเม็ก แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

    ดูบทความหลักที่ แขวงในประเทศลาว

ลาวแบ่งเป็น 16 แขวง ในหนึ่งแขวงจะมีหลาย เมือง ซึ่งจะมีหนึ่งเมืองเป็นเมืองหลวงเรียกว่า เมืองเอก และ 1 เขตปกครองพิเศษเรียกว่า นครหลวง ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ชื่อ    ชื่อลาว    เมืองเอก    พื้นที่ (km²)    ประชากร
(ปี 2547)
1. แขวงอัดตะปือ    ແຂວງອັດຕະປື    เมืองสามักคีไซ    10,320    114,300
2. แขวงบ่อแก้ว    ແຂວງບໍ່ແກ້ວ    เมืองห้วยซาย    6,196    149,700
3. แขวงบอลิคำไซ    ແຂວງບໍລິຄໍາໄຊ    เมืองปากซัน    14,863    214,900
4. แขวงจำปาสัก    ແຂວງຈໍາປາສັກ    เมืองปากเซ    15,415    575,600
5. แขวงหัวพัน    ແຂວງຫົວພັນ    เมืองซำเหนือ    16,500    322,200
6. แขวงคำม่วน    ແຂວງຄໍາມ່ວນ    เมืองท่าแขก    16,315    358,800
7. แขวงหลวงน้ำทา    ແຂວງຫຼວງນ້ຳທາ    เมืองหลวงน้ำทา    9,325    150,100
8. แขวงหลวงพระบาง    ແຂວງຫຼວງພະບາງ    เมืองหลวงพระบาง    16,875    408,800
9. แขวงอุดมไซ    ແຂວງອຸດົມໄຊ    เมืองไซ    15,370    275,300
10. แขวงพงสาลี    ແຂວງຜົ້ງສາລີ    เมืองพงสาลี    16,270    199,900
11. แขวงสาละวัน    ແຂວງສາລະວັນ    เมืองสาละวัน    10,691    336,600
12. แขวงสะหวันนะเขด    ແຂວງສະຫວັນນະເຂດ    เมืองไกสอน พมวิหาน    21,774    721,500
13. นครหลวงเวียงจันทน์    ນະຄອນຫຼວງວຽງຈັນ    นครหลวงเวียงจันทน์
(ประกอบด้วยเมืองจันทะบูลี, เมืองสีสัดตะนาก,
เมืองไซเสดถา เมืองสีโคดตะบอง
เมืองหาดซายฟอง และ ตอนใต้ของเมืองไซทานี)    3,920    692,900
14. แขวงเวียงจันทน์    ແຂວງວຽງຈັນ    เมืองโพนโฮง    15,927    373,700
15. แขวงไซยะบูลี    ແຂວງໄຊຍະບູລີ    เมืองไซยะบูลี    16,389    382,200
17. แขวงเซกอง    ແຂວງເຊກອງ    เมืองละมาม    7,665    83,600
18. แขวงเชียงขวาง    ແຂວງຊຽງຂວາງ    เมืองโพนสะหวัน    15,880    262,200

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีการยุบเขตพิเศษไซสมบูน (ເຂດພິເສດໄຊສົມບູນ; หมายเลข 16 ในแผนที่) อย่างเป็นทางการ ตามดำรัสนายกรัฐมนตรี (คำสั่งนายกรัฐมนตรี) เลขที่ 10/ນຍ. ลงวันที่ 13 มกราคม 2549 โดยเมืองท่าโทมถูกรวมกับแขวงเชียงขวาง และเมืองไซสมบูนถูกรวมกับแขวงเวียงจันทน์
[แก้] เศรษฐกิจ

ภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 2529 สปป.ลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2529 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ค่าเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทรัพยากรสำคัญของลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิบซั่ม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า
[แก้] การลงทุน

การลงทุน รัฐบาลลาวได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรการด้านภาษี อนุญาตให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่น ๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2547 มีมูลค่า 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2548 มีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน
[แก้] โครงการความร่วมมือในภูมิภาคใกล้เคียง

    อาเซียน ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ได้เป็นประธาน คณะกรรมการประจำอาเซียนเมื่อกรกฎาคม 2547
    ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS)
    ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต

[แก้] การนำเข้าและการส่งออก

สินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยส่งออกไปยังประเทศไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค
[แก้] สื่อสารมวลชน

สื่อในประเทศลาวล้วนอยู่ในความดูแลของรัฐโดยตรง รัฐบาลลาวมีสำนักข่าวสารประเทศลาว (ขปล.) เป็นสำนักข่าวแห่งชาติที่เผยแพร่ข่าวของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาลาวที่สำคัญในประเทศได้แก่ หนังสือพิมพ์ประชาชนซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศอีก 2 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส (Vientiane Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และหนังสือพิมพ์ "เลอเรโนวาเตอร์" (Le Rénovateur) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส

ในประเทศลาวมีสถานีโทรทัศน์เพียง 3 สถานี คือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว (สทล.) ซี่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ออกอากาศผ่านเครือข่ายสถานีในประเทศ สถานีโทรทัศน์ลาวสตาร์แชนแนล และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติลาว (LRT) ออกอากาศผ่านทางระบบดาวเทียมไทยคม 5 สถานีแห่งนี้เป็นสถานีโทรทัศน์ของเอกชนที่ดำเนินการภายใต้สัมปทานของรัฐ อนึ่ง ชาวลาวที่อยู่ตามชายแดนไทยและชาวลาวที่มีฐานะพอจะซื้อจานดาวเทียมได้จะนิยมดูรายการโทรทัศน์ช่องต่างๆ ของไทยเสียมากกว่า

ด้านการใช้อินเทอร์เน็ต ตามหัวเมืองใหญ่และนครหลวงมีการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่โดยทั่วไป และได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวก็ได้มีเซ็นเซอร์เนื้อหาและการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดเนื่องจากเป็นประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์
[แก้] สังคม
[แก้] ประชากร
เด็กหญิงชนเผ่ากะตู้ หนึ่งในกลุ่มชนชาติลาวเทิงของประเทศลาว

จากสถิติในปี พ.ศ. 2548 (ตามข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศของไทย) ประเทศลาวมีประชากรรวม 6,068,117 คน ประกอบด้วยชนชาติต่างๆ หลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งในภาษาลาวจะเรียกรวมกันว่า "ประชาชนบรรดาเผ่า" สามารถจำแนกได้เป็น 68 ชนเผ่าโดยประมาณ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนี้

    ลาวลุ่ม หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบ ส่วนใหญ่ได้แก่คนเชื้อชาติลาว ภูไท ไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาตระกูลภาษาไทเป็นภาษาหลัก ประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 68 ของจำนวนประชากรทั้งหมดและอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นกลุ่มชาวลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ
    ลาวเทิง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูง เช่น ชาวบรู มะกอง งวน ตะโอย ตาเลียง ละเม็ด ละเวน กะตัง ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เช่น แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง แขวงอัตตะปือ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
    ลาวสูง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง เช่น ชาวม้ง เย้า มูเซอ ผู้น้อย และชาวเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง และตามแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ชาวลาวกลุ่มนี้คิดเป็นจำนวนร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ชาวลาวเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ในลาวคิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมดด้วย
[แก้] ภาษา

ประเทศลาวใช้ภาษาลาวเป็นภาษาทางการทั้งในส่วนของภาษาพูดและระบบการเขียน ส่วนในกลุ่มชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงยังคงมีการใช้ภาษาประจำเผ่าของตนควบคู่กับภาษาลาว ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นที่มีการใช้ได้แก่ภาษาฝรั่งเศสซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ปัจจุบันยังคงใช้ในวงราชการและการติดต่อค้าขายบ้าง อีกภาษาหนึ่งที่สำคัญคือภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้า ซึ่งนับวันการศึกษาภาษาอังกฤษก็ยิ่งจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับอัตราการรู้หนังสือของลาวนั้น ประชากรเพศชายรู้หนังสือร้อยละ 67 หญิงร้อยละ 43 เมื่อคิดเฉลี่ยรวมทั้งสองเพศแล้วปรากฏว่าประเทศลาวมีอัตราประชากรที่รู้หนังสือ ร้อยละ 56
[แก้] ศาสนา
พระธาตุหลวง กรุงเวียงจันทน์ ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในประเทศ

ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง ส่วนชาวลาวที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมาก โดยศาสนาคริสต์ส่วนมากจะมีผู้นับถือเป็นกลุ่มชาวเวียดนามอพยพและชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ส่วนศาสนาอิสลามพบว่ามีการนับถือในหมู่ชนชาติส่วนน้อยจีนฮ่อที่อาศัยตามชายแดนด้านติดกับประเทศพม่า และมีชุมชนมุสลิมที่มีเชื้อสายเอเชียใต้ และจามในเวียงจันทน์
[แก้] วัฒนธรรม

มีความคล้ายคลึงกับคนภาคอิสานของไทยเป็นอย่างมาก ยังมีคำกล่าวที่ว่า “ มีลาวอยู่แห่งใด มีมัดหมี่ แลลายจกอยู่ที่นั้น ” ในด้านดนตรี ลาวมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ มีหมอขับ หมอลำ ลาวมีประเพณีทางพระพุทธศาสนาและอื่นๆ เช่น วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันออกพรรษา บุญเข้าประดับดิน บุญเข้าฉลาก บุญส่วงเฮือ (แข่งเรือ) บุญธาตุหลวงเวียงจันทน์ ในเดือน 12 เป็นต้น

พุทธศาสนาแบบเถรวาท นับเป็นแบบแผนหลักของวัฒนธรรมลาว ซึ่งปรากฏให้เห็นทั่วประเทศ ทั้งในด้านภาษา และศิลปะ วรรณคดี ศิลปะการแสดง ฯลฯ สำหรับดนตรีลาวนั้นมี แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ วงดนตรีของลาวก็คือวงหมอลำ มีหมอลำ และหมอแคน ท่วงทำนองของการขับลำจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทางภาคเหนือเรียกว่าขับ ภาคใต้จากบอลิคำไซลงไปเรียกว่าลำ เช่น ขับงึมเวียงจันทน์ ขับพวนเซียงขวง ลำสาละวันของแขวงสาละวัน ลำภูไท ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำบ้านซอกของแขวงสะหวันนะเขต ขับโสม ลำสีพันดอนของแขวงจำปาสัก ลำมะหาไซของแขวงคำม่วน ขับทุ่มของแขวงหลวงพระบาง ขับลื้อของชาวลื้อ เป็นต้น

การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างหนึ่งของลาวคือผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น (ผ้าถุง)

อาหารของคนลาว ลาวจะทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารที่เป็นเอกลักษณ์คือ แจ่ว ส้มตำ ไก่ย่าง เป็นต้น

อารยธรรมเก่าแก่ของลาวนั้น มีปรากฏจากหลักฐานด้านโบราณคดียุคหินที่ทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง
[แก้] วันสำคัญ
เทศกาลและวันหยุดราชการ วันที่    ชื่อภาษาไทย    ชื่อภาษาลาว    หมายเหตุ
1 มกราคม    วันขึ้นปีใหม่    บุญปีใหม่สากล    วันหยุดราชการ
20 มกราคม    วันสถาปนากองทัพประชาชนลาว    วันสร้างตั้งกองทัพประชาชนลาว    วันหยุดราชการ
ปลาย ม.ค./ต้น ก.พ.    วันตรุษจีนและตรุษญวน    (kou jine)    เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนและเวียดนาม ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ ลาวค่อนข้างให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นพิเศษ เพราะลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเวียดนาม มีชาวเวียดนามจำนวนค่อนข้างมากอาศัยอยู่ในลาว
กุมภาพันธ์    วันมาฆบูชา       ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ สำหรับวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา นั้นชาวลาวไม่ค่อยถือปฏิบัติมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ในวัดบางแห่งถือปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากไทย
กุมภาพันธ์    บุญข้าวจี่, บุญกองข้าว, บุญไขประตูเล้า       ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
มีนาคม    บุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ       นิยมจัดขึ้นในเดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติของลาว (ปฏิทินจันทรคติของลาวบางปีไม่ตรงกับของไทย) คำว่าบุญผะเหวดนี้เลือนมาจากคำว่า "บุญพระเวส" (บุญพระเวสสันดร)
8 มีนาคม    วันสตรีสากล    วันแม่หญิงสากล    วันหยุดราชการ
22 มีนาคม    วันสถาปนาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว    วันสร้างตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว    วันหยุดราชการ
เมษายน ประมาณวันที่ 14-16    วันสงกรานต์    บุญปีใหม่ลาว    วันแรกของปีใหม่ เรียกวันสังขานล่วง วันที่สองเรียกวันเนาว์ วันที่สามเรียกวันสังขานขึ้น บางปีมีวันเนาว์ 2 วัน ทำให้วันเริ่มเทศกาล เป็นวันที่ 13-16 ก็มี หรือบางปีก็เริ่ม วันที่ 14-17 แล้วแต่การคำนวณตามปฏิทินจันทรคติของลาว และเป็นวันหยุดราชการ
1 พฤษภาคม    วันแรงงานสากล    วันกรรมกรสากล    วันหยุดราชการ
พฤษภาคม    วันวิสาขบูชา    บุญวิสาขบูชา    ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ
พฤษภาคม    บุญบั้งไฟ       นิยมจัดขึ้นในเดือน 6 หรือเดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติ เป็นเทศกาลเกี่ยวกับการขอฝน
1 มิถุนายน    วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ       เป็นวันที่รัฐส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้
กรกฎาคม    วันอาสาฬหบูชา    บุญอาสาฬหบูชา    ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ
กรกฎาคม    วันเข้าพรรษา    บุญเข้าพรรษา    ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ มีการถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝนเหมือนกับของไทย การถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนลาว จะจัดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาคือในวันขึ้น 15 เดือน 8 หรือในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งต่างจากไทย
สิงหาคม    บุญข้าวประดับดิน    ห่อข้าวปะดับดิน    จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติเป็นงานทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว (เน้นอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ไปให้แก่ผีไม่มีญาติ)
กันยายน    บุญข้าวสาก หรือข้าวสลาก    ห่อข้าวสาก หรือข้าวสลาก    จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินทางจันทรคติเป็นงานทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว (เน้นอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติสนิทที่ล่วงลับโดยตรง)
ตุลาคม    วันออกพรรษา    บุญออกพรรษา    สิ้นสุดฤดูฝน หลายท้องถิ่นมีการลอยกระทง แข่งเรือ และไหลเรือไฟ (ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ)
พฤศจิกายน    บุญธาตุหลวง       งานนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ประจำปี
พฤศจิกายน    บุญกฐิน       จัดขึ้นในเดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ
2 ธันวาคม    วันชาติ       วันที่ระลึกในการก่อตั้ง สปปล. เมื่อปี พ.ศ. 2518และเป็นวันหยุดราชการ
31 ธันวาคม    วันสิ้นปี       
[แก้] อันดับในเวทีระหว่างประเทศ
องค์กร    หัวข้อสำรวจ    อันดับที่
Heritage Foundation/
The Wall Street Journal    ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
(Index of Economic Freedom)    149 จาก 157
องค์กรสื่อไร้พรมแดน
(Reporters Without Borders)    ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก
(Worldwide Press Freedom Index)    156 จาก 167
องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ
(Transparency International)    ดัชนีความตระหนักในการทุจริตคอร์รัปชั่น
(Corruption Perceptions Index)    163 จาก 179
United Nations Development Programme    ดัชนีการพัฒนามนุษย์
(Human Development Index)    130 จาก 177
[แก้] ดูเพิ่ม

    การคมนาคมในประเทศลาว
    เวียงจันทน์

[แก้] อ้างอิง

    ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมวดที่ 10 ภาษา อักษร เครื่องหมายชาติ ธงชาติ เพลงชาติ วันชาติ สกุลเงิน และนครหลวง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ประเทศลาว

    ประเทศลาว ที่ ดีมอซ
    ประเทศลาว ข้อมูลการท่องเที่ยวจากวิกิท่องเที่ยว