การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test ) คืออะไร? Aug 26, '09 11:32 PM
for everyone
เป็นการตรวจสุขภาพที่สำคัญ เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้า หัวใจ และกล้ามเนื้อ รวมถึง ศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับด้วย ปัจจุบันจัดว่าเป็นการตรวจสุขภาพมาตรฐานสากล (gold standard) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรคพบบ่อยเช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า หยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
เมื่อไหร่จึงควรรับการตรวจ sleep test
ข้อบ่งชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปรกติ หรืออาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปรกติ ทั้ง ๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว หายใจลำบาก และสงสัยว่าจะมีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือ ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอน ผิดปรกติอื่น ๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน หรือ นอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ เป็นต้น ทั้งนี้ก่อนตรวจ ท่านควรพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคการนอนหลับโดยตรง หรือแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้องเช่น หู คอ จมูก หรือ อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบประสาท เพื่อสอบถามประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อน เพื่อพิจารณาทางเลือก หรือความจำเป็นในการตรวจและรักษา ในแบบต่าง ๆ
การตรวจ sleep test มีจำเป็นต่อท่านอย่างไร
เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล สำหรับใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา ประโยชน์จากการตรวจที่สำคัญต่อมา คือจะใช้ในการตั้งค่าความดันลม (Pressure titration) ในกรณีที่ท่านรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับโดยการเลือกใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure; CPAP) และใช้ในการปรับระดับการเคลื่อนของขากรรไกร ในกรณีที่ท่านเลือกใช้เครื่องครอบฟัน (oral appliances) นอกจากนี้ยังใช้ติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงยังช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปรกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการนอนได้อีกด้วย
การตรวจ sleep test มีแบบใดบ้าง และควรเลือกตรวจอย่างไร
ตามนิยามของราชวิทยาลัยเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในและใช้อ้างอิงในระดับสากล แบ่งการตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือ sleep test ซึ่งบางครั้งอาจเรียกว่า sleep study ออกเป็น 4 ระดับตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ
ระดับที่ 1 เราเรียกว่า การตรวจสุขภาพการนอนชุดมาตรฐานสมบูรณ์ภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้า (Comprehensive attended in-Lab polysomnography ) อาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการตรวจชุดมาตรฐานระดับที่ 1 การตรวจนี้จะประกอบด้วย การวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้า หัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจ เป็นอย่างน้อย และ ในห้องตรวจมาตรฐานส่วนใหญ่ มีการบันทึกเสียงกรน รวมถึง บันทึกภาพวิดีโอเพื่อศึกษาพฤติกรรมขณะนอนตรวจด้วย
ระดับที่ 2 เป็นการตรวจสุขภาพการนอนชุดมาตรฐานสมบูรณ์ แบบนอกสถานพยาบาล (อาจตรวจตามบ้าน หรือ ที่พัก เช่น หอผู้ป่วย และอื่นๆ ) อาจมีเจ้าหน้าที่เผ้า หรือไม่เผ้าก็ได้ (Comprehensive mobile polysomnography) อาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการตรวจชุดมาตรฐานระดับที่ 2 การตรวจนี้มีส่วนประกอบเช่นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกับการตรวจระดับ 1 แต่ต่างกันตรงที่ตรวจไม่ได้ตรวจภายในห้องตรวจของสถานพยาบาล แต่อาจไปตรวจที่ห้องนอนในบ้านของท่านเอง เป็นต้น ซึ่งมีข้อดี คือ จะได้ข้อมูลการนอนที่เชื่อถือได้ คล้ายกับการนอนในห้องนอนปกติมากกว่า เนื่องจากผู้ตรวจได้ตรวจในสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย อาจเหมาะกับผู้ที่เคลื่อนเดินเคลื่อนไหว หรือมาโรงพยาบาลไม่สะดวก เช่นผู้ป่วยที่อ้วนมาก หรือมีโรคประจำตัวทำให้เคลื่อนย้ายลำบาก นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตรวจจะถูกกว่า ระดับที่ 1 เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าห้องของโรงพยาบาล
ระดับที่ 3 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบจำกัด (Limitted channel portable sleep test) หรือ เรียกง่าย ๆ การตรวจชุดจำกัด ระดับที่ 3 การตรวจนี้ จะมีเพียงการตรวจ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอก และท้อง การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การวัดระดับเสียงกรน บางครั้งรวมคลื่นหัวใจร่วมด้วย การตรวจนี้มีข้อดี คือ ตรวจนอกสถานที่ เช่น ห้องนอนที่บ้าน ซึ่งมีความสะดวก และค่าใช้จ่ายถูกกว่า 2 แบบแรกอย่างไรก็ตาม ผลการตรวจมักได้ค่าความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้วัดคลื่นสมอง จึงไม่สามารถประเมิน ประสิทธิภาพในการนอน รวมระยะความลึกของการนอน ผลที่ได้จึงมีข้อจำกัดและด้อยกว่า แบบชุดสมบูรณ์
ระดับที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด และหรือ วัดลมหายใจขณะหลับ (Single or dual channel portable sleep test) บางท่านอาจไม่จัดว่าเป็นการตรวจการนอนหลับ แต่ก็อาจเรียกว่าเป็น การตรวจชุดจำกัด ระดับที่ 4 ไม่สามารถนำมาใช้ยืนยันการวินิจฉัยภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้ แต่อาจให้ข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีประโยชน์ เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถ ตรวจการนอนหลับ ระดับ 1 -3 ได้เท่านั้น
Sleep test ตรวจได้ที่ใดบ้าง และต่างกันอย่างไร
จากประเภทการตรวจนอนในระดับ ต่าง ๆ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เราสามารถตรวจทั้งในห้องตรวจเฉพาะของโรงพยาบาล (sleep lab) หรืออาจตรวจนอกสถานพยาบาล เช่น การตรวจที่บ้าน home monitoring sleep test หรือแม้กระทั่งการตรวจในโรงแรม หรือที่พักที่เหมาะสมก็ได้
วิธีการตรวจ sleep test ทำอย่างไร
ในกรณีนี้จะกล่าวถึง การตรวจคุณภาพนอนหลับในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ เฝ้าอยู่ด้วยทั้งคืน (การตรวจสุขภาพการนอนชุดมาตรฐานระดับ 1) ซี่งจัดเป็น gold standard เมื่อท่านมาถึงห้องตรวจช่วงหัวค่ำ และแจ้งกับทางสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการนอนของท่าน หรือ อาจให้ท่านกรอกแบบสอบถาม และเอกสารความยินยอมของท่านรวมถึงจะแนะนำ เรื่องต่าง ๆ เช่น เกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งสภาพจะคล้ายกับห้องนอนของโรงแรม หรือใกล้เคียงกับห้องนอนในบ้านของหลายท่าน เพื่อจะให้ท่านได้หลับดีที่สุด นอกจากนี้ ท่านอาจได้รับการทดลองใส่หน้ากากของเครื่องเป่าความดันลมช่วยหายใจ (CPAP mask) เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อน เนื่องจากในบางท่านที่มีภาวะหยุดหายใจระดับรุนแรง ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปรกติมาก ในช่วงครึ่งคืนแรก ท่านอาจได้รับการปลุกเพื่อ ตื่นขึ้นมารักษาโดยเครื่องดังกล่าวภายในคืนที่ตรวจเลย
เมื่อท่านชำระร่างกายสะอาดแล้วและพร้อมที่จะเข้านอน เจ้าหน้าที่จะเริ่มทำการติด สายวัด คลื่นไฟฟ้า สมอง รวมถึงกล้ามเนื้อลูกตา กล้ามเนื้อใต้คาง และขา รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดังนั้นท่านจะมีอุปกรณ์ต่างๆ และสาย ติดที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า คาง หน้าอกและขาทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้ท่านจะได้รับการตรวจการหายใจโดยมี สายวัดบริเวณจมูก สายรัดหน้าอก และบริเวณท้อง รวมถึงจะมีเครื่องวัดระดับออกซิเจน ที่ปลายนิ้วของท่าน และอาจมีเครื่องวัดระดับเสียงกรน หรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามความจำเป็น และในห้องตรวจส่วนมากจะมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกไว้ ด้วย โดยที่เจ้าหน้าที่จะอยู่ในห้องควบคุมซึ่งอยู่ภายนอกห้องนอนของท่าน แต่จะพร้อมช่วยเหลือท่าน กรณีที่ท่านต้องการ
ท่านควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับการตรวจ
ก่อนการตรวจคุณภาพการนอนหลับ ท่านควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณา ว่า การตรวจแบบใดที่เหมาะสมกับท่าน โดยทั่วไปนั้น ท่านควรหลีกเลี่ยงการดื่ม กาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก หลังเที่ยง ในวันที่ทำการตรวจ ท่านไม่จำเป็นต้องหยุดงานเพื่อมาพักโรงพยาบาล เนื่องจากการตรวจจะเริ่มในช่วงค่ำ ใกล้เวลานอนปรกติของท่าน โดยทั่วไปจะเริ่มประมาณ 2 ทุ่ม ทั้งนี้อาจขยับเวลาได้บ้างตามความเหมาะสม และในวันที่ตรวจท่านควรสวมเสื้อผ้า เหมือนชุดที่ท่านใส่นอนปรกติ ทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากการตรวจไม่ได้สร้างความเจ็บปวดใด ๆ แก่ท่าน เพียงแต่อาจมีความไม่คุ้นเคย กับเครื่องมือที่ติดตามร่างกาย ส่วนต่าง ๆ ของท่านเท่านั้น ท่านควรจะนอนในท่าที่ทำให้ท่านนอนสบายที่สุด และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบหากท่านมีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือใดในระหว่างการตรวจ ซึ่งจะมีไมโครโฟนภายในห้องตรวจ อยู่แล้ว กรณีที่ท่านใช้ยารักษาโรคประจำตัว ใดเป็นประจำมานาน เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน หรือ ยานอนหลับ ส่วนมากไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนตรวจการนอน อย่างไรก็ดีท่านควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่และแพทย์ทราบเพื่อตัดสินร่วมด้วย ในช่วงเช้าท่านสามารถนอนและตื่นตามเวลาปกติของท่านโดยเจ้าหน้าที่ จะไม่พยายามปลุกท่านหากท่านยังอยู่ในระยะการนอนหลับที่ลึกอยู่ ผู้รับการตรวจส่วนมากสามารถนอนหลับได้ใกล้เคียงปกติ
ข้อควรรู้อื่น ๆ เกี่ยวกับการตรวจ
ในปัจจุบัน ในโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักมีห้องตรวจคุณภาพการนอนเฉพาะ (การตรวจสุขภาพการนอนชุดมาตรฐาน ระดับ 1) ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในใช้สิทธิ์ข้าราชการได้เต็มจำนวน รวมถึง กรณีใช้สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิ 30 บาท ก็อาจครอบคลุมถึงได้ อย่างไรก็ดีกรณีนี้ ท่านควรสอบถามเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของแห่งนั้นก่อนด้วย ส่วนในกรณีที่ท่านต้องชำระค่าตรวจเอง ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ค่าใช้จ่ายจะประมาณ 8000 9000 บาท แต่ในกรณีที่ การตรวจในห้องเฉพาะของโรงพยาบาลรัฐ ใช้เวลารอตรวจนานมาก ซึ่งบางแห่งอาจไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ท่านมีอาการซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของท่านมาก ท่านอาจปรึกษาแพทย์เฉพาะด้านเพื่อพิจารณา การตรวจการนอนนอกสถานพยาบาล ซึ่งค่าจ่ายในส่วนนี้ใกล้เคียงกับการตรวจในโรงพยาบาล ถ้าเป็นการตรวจชุดสมบูรณ์ระดับ 2 หรือ ค่าใช้จ่ายราว 3000 บาทถ้าเป็นการตรวจชุดจำกัดระดับ 3 ซึ่งในส่วนนี้อาจไม่สามารถเบิกจากสิทธิ์ ข้าราชการ ประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพได้ นอกจากนี้ท่านอาจเลือกตรวจชุดการนอนมาตรฐานในสถานพยาบาลเอกชนทั้งนี้ ควรเป็นแห่งที่เชื่อถือผลได้ในระดับสากล แล้วนำผลการตรวจของท่านมาให้แพทย์ที่ดูแลท่านแปลผล ได้ ซึ่งท่านต้องทราบว่า ในส่วนนี้ ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ คือราว 10000 15000 บาท และปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่า จะสามารถเบิกค่าตรวจรักษาจากบริษัทประกันชีวิต หรือจากบริษัทต้นสังกัด ของท่านได้หรือไม่ ดังนั้นท่านควรสอบถามตัวแทนประกัน
ท่านควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจตรวจ ทั้งนี้เพื่อผลการตรวจที่เชื่อถือได้ อันจะเป็นข้อมูลอ้างอิงในการรักษาโรคเกี่ยวกับการนอนของท่านในระยะยาว ต่อไปในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=668