Author Topic: เที่ยววัดในญี่ปุ่น  (Read 6365 times)

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
เที่ยววัดในญี่ปุ่น
« on: August 05, 2010, 12:15:56 PM »
  เที่ยววัดในญี่ปุ่น

 ปัจจุบันความเจริญทางด้านวัตถุมีผลกระทบต่อจิตใจมนุษย์เรามากพอสมควร ผู้คนต่างไขว่คว้าหาสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ และไม่ใช่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น หากแต่คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็มีความเชื่อในเรื่องโชคลางและวัตถุมงคลซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจเหมือนกัน

      วัดในภาษาญี่ปุ่นนั้นเรียกว่า “โอเทระ”( otera)  ถ้าเป็นศาลเจ้าจะใช้คำว่า “จินจะ”

( Jinjya)  โดยสมัยก่อนนั้นมีการสร้างวัดในประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก  จากการสำรวจของหนังสือบางฉบับกล่าวไว้ว่า ธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ได้แก่ ครอบครัว Kongo Gumi ซึ่งทำธุรกิจการสร้างวัดในญี่ปุ่น แต่ผลจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุคฟองสบู่ได้ขายกิจการให้แก่บริษัทอื่นไปโดยดำเนินการมาทั้งสิ้น 1,428  ปี

      ปัญหาสังคมพุทธศาสนาในญี่ปุ่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของประชากรชาวญี่ปุ่นที่ลดจำนวนลง ส่วนคนยุคใหม่ที่จะช่วยในการสนับสนุนพระพุทธศาสนานับวันจะมีน้อยลงทุกที หลายๆวัดในญี่ปุ่นจึงมีการปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปในปัจจุบัน จุดเด่นของวัดในญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกันไป บางวัดมีชื่อเสียงเรื่องการจัดสวน ซึ่งสวนของญี่ปุ่นนั้นสร้างตามหลักความเชื่อของลัทธิเต๋า และพุทธศาสนานิกายเซน ที่สอนให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติอย่างสันติ บางวัดโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมที่งดงามและหาดูได้ยาก หรือวัดบางแห่งมีชื่อเสียงเรื่องการขอพรบางประการเช่น ขอบุตร ขอให้ประสบความสำเร็จเรื่องการเรียน ความรักหรือการค้าขาย เป็นต้น ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่น ก็จะหาโอกาสเข้าวัดให้ได้ทุกครั้ง สิ่งที่สังเกตก็คือวัยรุ่นและครอบครัวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเลือกมาวัดในเวลาที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ มิใช่เพียงแต่เฉพาะเวลาที่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ เราลองมาดูกันว่าเขาทำอะไรในวัดญี่ปุ่นและมีความเชื่ออะไรบ้างที่คล้ายคลึงกับบ้านเรา

1.    บ่อน้ำชำระใจ

เวลาไปวัดที่ประเทศญี่ปุ่น ทุกวัดจะมีการจัดตั้งบ่อน้ำไว้บริเวณทางเข้าวัดเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาด โดยบริเวณบ่อน้ำจะมีกระบวยวางอยู่ วิธีที่ถูกต้องคือใช้กระบวยตักน้ำล้างมือขวา จากนั้นล้างมือซ้ายและบ้วนปาก  ท้ายสุดให้ใช้มือจับที่ปลายไม้ของกระบวยแล้วค่อยๆยกตั้งฉากเพื่อให้น้ำไหลล้างผ่านกระบวย  เสร็จแล้ววางที่เดิม

2.    กวักตามความเชื่อ

 หากใครเคยไปที่วัดอาซากุสะ ( Asakusa ) หรือบางท่านเรียกว่า “ วัดเซนโซจิ “ หรือวัดโคมแดง เพราะมีโคมแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความสูงถึง 4.5 เมตร ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด  ผู้คนที่มาวัดนี้ก็มาเพื่อสักการะเจ้าแม่กวนอิมทองคำองค์เล็กที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ ซึ่งมีขนาดเพียง 5.5  ซ.ม.  สิ่งที่ผู้คนนิยมทำกันก็คือการกวักควันธูปเข้าหาตัว เพราะมีความเชื่อว่าจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ บ้างก็เชื่อว่ากวักไว้เพื่อจะได้มีโอกาสกลับมาประเทศญี่ปุ่นอีก จะเชื่อหรือไม่คงแล้วแต่ความศรัทธานะคะ

3.    เซียมซีเสี่ยงโชค

คนญี่ปุ่นเองก็เหมือนคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อในโชคชะตาฟ้าลิขิต  ความนิยมเสี่ยงเซียมซีหรือโอมิคุจิ (Omikuji ) เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบไม่แพ้คนไทย ไม่ว่าจะที่ญี่ปุ่นหรือประเทศไทยก็ใช้วิธีการเสี่ยงเซียมซีวิธีเดียวกัน  โดยการเขย่าจนได้ตะเกียบแท่งแรกที่ตกลงมา และจะระบุตัวเลขที่ทำนายโชคชะตาแต่ละใบเอาไว้  บางแห่งจะเขียนคำทำนายเฉพาะภาษาญี่ปุ่น ที่แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองยังต้องกุมขมับ  เพราะใช้ตัวอักษรคันจิที่ยากและภาษาที่ต้องแปลจากญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่นอีกที คงคล้ายๆกับของบ้านเราที่มักเขียนคำทำนายในรูปแบบกลอน ซึ่งผู้ที่ได้รับต้องค่อยๆลุ้นแปลทีละประโยค แต่ท้ายสุดทุกท่านก็คงแค่อยากรู้ว่าดีหรือไม่ดี  วัดใดที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากหน่อยจะพิมพ์คำทำนายเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ ก็สบายใจได้ที่ไม่ต้องไปพึ่งพาคนญี่ปุ่น   หลายท่านเข้าวัดแล้วเจอกิ่งไม้ที่มีกระดาษขาวๆพับไว้ตามจุดต่างๆเต็มต้นคงอยากทราบว่าคืออะไร  ใครที่ได้รับข้อความที่อ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจหรือสรุปว่าไม่ดี

ก็สามารถผูกไว้ตามกิ่งไม้หรือบนเชือกในบริเวณที่ทางวัดจัดไว้ให้  สังเกตว่าแต่ละวัดมีคนผูกไว้จนเต็มต้นเลย  ไม่แน่ใจว่าโอกาสของคนที่จะรับข้อความดีๆนั้นจะมีสักกี่คนกันเชียว  อ่านไว้เพื่อเป็นแนวทางก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครที่อ่านข้อความไม่ดีแล้วมักมีผลกระทบต่อจิตใจ ก็ขอแนะนำว่าอย่าไปพึ่งการทำนายเซียมซีดีกว่า  ยังไงสิ่งที่ดีที่สุดนั้นคือ

“ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ “  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

4.    วัตถุมงคลดลใจ

หลายๆวัดมีการจัดทำวัตถุมงคลที่สามารถนำกลับไปเป็นของฝากให้กับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้อย่างดี  ที่นิยมกันมากคือเครื่องรางนำโชค  ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ โอมาโมหริ “ (Omamori) ซึ่งในถุงเครื่องรางนั้นอาจจะมีข้อความที่พิมพ์ลงบนกระดาษหรือใช้วัสดุที่ผ่านการทำพิธีทางศาสนาและนำมาบรรจุใส่ถุงผ้าที่มีลวดลายน่ารัก เก๋ไก๋ อย่างลายอิ๊กคิวซังหรือคิตตี้ก็มีจำหน่าย สามารถนำมาห้อยโทรศัพท์หรือกระเป๋าได้หรือสามารถพกไว้ในกระเป๋าสตางค์ โดยทางวัดจะจัดถุงเครื่องรางเหล่านี้แบ่งออกตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง (Travelling)  การเงินการค้าขายที่ดี ( Trading ) ให้สมหวังกับความรัก ( Love )  เพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืน (Health)  การเรียน

 (Study)  หรือแม้กระทั่งการคลอดบุตรให้ปลอดภัย (Deliver Kids)  ทั้งนี้ก่อนซื้อก็ดูให้ตรงตามที่ต้องการนะคะ ถ้าไม่ทราบก็จำความหมายของแต่ละคำไว้ให้ดีนะคะ  วัดที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาที่สุดในญี่ปุ่นคือ “ วัดดาไซฟุ “ ( Dazaifu ) อยู่ที่เมืองฟุกุโอกะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ยังไงใครที่อยากขอพรเรื่องการเรียนก็อย่าลืมหาโอกาสแวะไปนะคะ

5.    สมหวังในรักต้องวัดนี้เลย

เคยไปแวะวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกียวโตที่มีชื่อว่า “วัดคิโยมิสึ” กันมาหรือยังคะ วัดคิโยมิสึ มีความหมายว่าน้ำบริสุทธิ์ และมีวิหารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุดเด่นคือการก่อสร้างวิหารไม้นี้ทั้งหมดไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว  วัดนี้มีชื่อเสียงเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลจากภูเขาซึ่งจะแยกออกเป็น 3 สาย คือ สายความรัก  สายการเงิน  และสายสุขภาพ  แท้จริงแล้วก็ไหลมาจากต้นสายเดียวกัน  แต่คงเพื่อความสบายใจของที่มาขอพร เวลายืนมองคนที่เข้าแถวเพื่อจะรอดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ก็นึกขำอยู่ในใจเพราะบางท่านที่ทำใจเลือกสายใดสายหนึ่งไม่ได้ก็จะดื่มทั้งสามสาย ไหนๆกล่าวถึงวัดนี้แล้ว บางท่านไม่เคยทราบว่าภายในวัดนี้ยังมีศาลเจ้าเล็กๆที่ชื่อว่า “ศาลเจ้าเกียวโตจิชู “ (Kyoto jishu shrine)  ซึ่งจะเน้นเรื่องความรัก เมื่อขึ้นไปบนศาลเจ้าจะเห็นหินก้อนใหญ่บนพื้นที่วางห่างกันประมาณ 10 เมตร อยู่สองก้อน  เพื่อเป็นการทำนายโชคชะตาความรัก ก็จะนิยมปิดตาแตะหินก้อนหนึ่งและเดินไปแตะหินอีกก้อนหนึ่งให้ได้  ซึ่งเชื่อกันว่าความรักที่คุณมีอยู่นั้นจะสมหวัง  แต่สิ่งที่สมหวังแท้จริงแล้วน่าจะเป็นเรื่องมิตรภาพของคนรอบข้างที่เป็นแรงเชียร์ให้คุณแตะหินได้อย่างสำเร็จมากกว่า เพราะมันเป็นความรู้สึกที่คุณสัมผัสได้จริง

6.    พรจากแผ่นไม้

การขอพรของชาวญี่ปุ่นนอกเหนือจากการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดนั้นๆแล้ว  ชาวญี่ปุ่นนิยมเขียนคำขอพรลงบน Ema (เอมะ) หรือแผ่นไม้ที่มีน้ำหนักเบาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือรูปต่างๆ รวมทั้งพิมพ์รูปสัญลักษณ์ประจำวัดนั้นๆ อาทิ รูปเณรน้อยอิกคิวซัง  สำหรับวัดคิงคะคุจิหรือวัดปราสาททอง รูปสุนัขจิ้งจอกสำหรับวัด Fushimi Inaritaisha  ซึ่งเป็นวัดที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเกอิชา เป็นต้น โดยผู้ขอพรจะเขียนคำขอลงบนกระดาษแล้วนำไปแขวนไว้  เชื่อกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะรับรู้ไม่ว่าคุณจะเขียนป้ายเป็นภาษาใด โดยในแต่ละวัดจะมีจำหน่ายแผ่นเอมะนี้ทุกแห่ง

7.    เหรียญสมปรารถนา

ก่อนทำการขอพร คนญี่ปุ่นมักจะโยนเหรียญลงในกล่องไม้ขนาดใหญ่ที่มีช่องโยนเหรียญ ซึ่งกล่องนี้จะเรียกว่า “ ไซเซ็นบาโกะ “ ( Saisenbako ) วิธีการคือ โยนเหรียญลงในกล่อง จากนั้นตบมือสองครั้งและทำการภาวนาอธิษฐาน  หากบางแห่งแขวนกระดิ่งไว้ด้านบนก็สั่นกระดิ่งก่อนตบมือ เชื่อกันว่าเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ยินคำอธิษฐาน  คนญี่ปุ่นเองนิยมโยนเหรียญห้าเยนที่มีสีทองและรูตรงกลาง  เหรียญห้าเยนในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ โกะเอ็นดามะ “ ซึ่งคำว่า “ โกะเอ็น “  เสียงของคำนี้ไปพ้องกับคำว่าโชคชะตา จึงนิยมใช้เพื่อให้สมความปรารถนา และบางท่านเชื่อว่าเหรียญที่มีรูจะนำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายลอดผ่านรูนี้ออกไป ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อที่แตกต่างกันไป

8.    แมวอ้วนชวนให้โชค

ในบ้านเรามีนางกวักเป็นเทพสัญลักษณ์ของการเรียกเงินเรียกทองของผู้ที่ทำการค้า  แต่ในภาคญี่ปุ่นนั้น  หลายท่านคงคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีกับเจ้าแมวตัวกลมที่ยกมือขึ้นข้างลำตัว  บางท่านถามว่าการกวักโดยมือซ้ายและมือขวานั้นมีความหมายเหมือนกันหรือไม่  แมวกวักในภาษาญี่ปุ่นนั้นเรียกว่า “ มาเนะกิเนะโกะ “ ( Manekinekko ) ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายมาจากการเชื้อเชิญและแมวมาผสมกัน  สำหรับการกวักมือขวานั้นเชื่อว่าเป็นการเรียกเงินทองและโชคดีเข้าบ้าน ส่วนการกวักมือซ้ายนั้นเพื่อการเรียกลูกค้า  นิยมวางตามร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ ยิ่งยกแขนสูงมากลูกค้ายิ่งเยอะ เพราะฉะนั้นบางตัวจะดูแขนยาวกว่าปกติ บางตัวถือปลา เชื่อว่าจะมีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป หรือถ้ามีกลอง ก็เป็นการเคาะเรียกเงินทอง  แมวถือลูกแก้วและพนมมือคือการขอพร  ส่วนแมวดำที่บ้านเรากลัวๆนั้น คนญี่ปุ่นจะใช้เป็นเครื่องรางป้องกันภัยอันตรายต่างๆ

9.    ความเชื่อที่น่าสน

สุดท้ายขอฝากเรื่องความเชื่อที่ญี่ปุ่นมีเหมือนบ้านเราคือ เรื่องของตัวเลข  ตัวเลขที่คนญี่ปุ่นไม่นิยมคือ เลขสี่ เพราะออกเสียงว่า “ชิ” ที่มีความหมายว่าตาย และอีกตัวเลขคือเลข เก้า ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับคนไทยที่ชอบเลขเก้า ที่พ้องกับความหมายว่าก้าวหน้า แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้นออกเสียงว่า “คุ” ซึ่งพ้องกับความหมายว่าลำบาก  คนญี่ปุ่นเองยังเชื่อในเรื่องของอายุที่ควรระวัง ได้แก่อายุที่ครบ 19  ปี 33 ปี  และ 42  ปี  โดยปีเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “ยะคุโดชิ” ซึ่งแต่ละปีจะมีการออกเสียงที่พ้องกับความหมายที่ไม่ดี อาทิ ความลำบาก ความสูญสิ้น ความตาย เป็นต้น ดังนั้นใครที่มีอายุครบตามปีเหล่านี้ก็จะนิยมไปทำบุญเพื่อความสบายใจและเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง

อย่างว่า ทั้งความเชื่อและความศรัทธานั้นเป็นเรื่องของบุคคล ตราบใดที่เรายืนอยู่บนรากฐานของการทำความดี เชื่อว่าสิ่งดีๆจะเข้ามาในชีวิตอย่างแน่นอน หากคุณรอที่จะเป็นผู้รับ ก็อย่าลืมทำตัวเป็นผู้ให้  และอย่าหวังสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่ต้องลงแรง  ขอให้ทุกท่านจงมีความสุขสมหวังกันถ้วนหน้านะคะ

 

ขอบคุณที่มาจาก : หนังสือนิตยสารโคโคโระ