Author Topic: ข้อมูล หลวงพระบาง  (Read 24387 times)

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
ข้อมูล หลวงพระบาง
« on: March 24, 2011, 01:35:08 PM »
มิศาสตร์ประเทศลาว

 
ประเทศลาว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
 
 
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในลาว
 
 
คำขวัญประจำประเทศลาว
 
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร
 
 
ธงชาติลาว
 
ธงชาติลาว
 
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 แถบตามแนวนอน แถบด้านบนและด้านล่างสุดเป็นสีแดง แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงิน
มีวงกลมสีขาวอยู่กลางบนแถบสีน้ำเงิน
สีแดง    หมายถึง สีเลือดแห่งการเสียสละ การพลีชีพเพื่อชาติ
สีน้ำเงิน หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญมั่งคั่ง
สีขาว     หมายถึง ดวงจันทร์ เปรียบเสมือนน้ำใจของคนลาวที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
 
 
ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศลาว
 
 
เป็นประเทศมรสุมเขตร้อน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในดินแดนที่มีชื่อเรียกกันว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ”
(คาบสมุทรอินโดจีน) ระหว่างละติจูดที่ 14-23 องศาเหนือ และลองติจูด 100-108 องศา ไม่มีทางออกสู่ทะเล
 
 
อาณาเขตประเทศลาว
 
ทิศเหนือ ติดกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน (423 ตารางกิโลเมตร)
ทิศใต้ ติดกับ ราชอาณาจักรกัมพูชา (541 ตารางกิโลเมตร)
ทิศตะวันออก ติดกับ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (2,130 ตารางกิโลเมตร)
ทิศตะวันตก ติดกับ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) (235 ตารางกิโลเมตร)
ทิศใต้และทิศตะวันตก ติดกับ ประเทศไทย (1,754 ตารางกิโลเมตร)
 
ประเทศลาวมีความยาวจากเหนือจรดใต้เป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร
ช่วงที่กว้างที่สุดของประเทศมีความยาว 500 กิโลเมตร ช่วงที่แคบที่สุดของประเทศมีความยาว 150 กิโลเมตร
 
หมายเหตุ:
เขตแดนไทย - ลาว ประเทศไทยมีเส้นแบ่งเขตแดนติดต่อกับ สปป.ลาว ประกอบด้วย 11 จังหวัดของไทย ได้แก่ เชียงราย,
พะเยา, น่าน, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เลย, หนองคาย, นครพนม, อำนาจเจริญ, มุกดาหารและอุบลราชธานี
และ 9 แขวงของลาวได้แก่ แขวงบ่อแก้ว, แขวงไซยะบุรี, แขวงเวียงจันทน์, นครหลวงเวียงจันทน์, แขวงบอลิคำไซ,
แขวงคำม่วน, แขวงสะหวันนะเขต, แขวงสาละวันและแขวงจำปาสัก
  
 
   ภูมิประเทศลาว
 
ภูมิประเทศลาว
 
   ลาวเป็นประเทศที่มีขุนเขาสลับซับซ้อน พื้นที่กว่าร้อยละ 90 มีความสูงมากกว่า 180 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
   พื้นที่ประมาณ 70% เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาที่สูงที่สุดในประเทศลาวคือ “ภูเบี้ย”
   ตั้งอยู่ในแขวงเชียงขวาง ทางภาคเหนือของประเทศ มีความสูงทั้งสิ้น 2,820 เมตรจากระดับน้ำทะเลและยังพบภาชนะ
   ยุคก่อนประวัติศาสตร์รูปทรงคล้ายไห กระจายอยู่ทั่วไป เรียกว่า “ทุ่งไหหิน” มีเทือกเขาอันหนำพาดผ่านจากตะวันตกเฉียงเหนือ
   ลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ยาวราวกึ่งหนึ่งของประเทศและเป็นพรมแดนกั้นประเทศลาวกับประเทศเวียดนามเนื่องจากสภาพ
   ภูมิประเทศเป็นป่าไม้และภูเขาสูงจึงพื้นที่เพาะปลูกเพียง 50,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 21.11 ของพื้นที่ทั้งหมด
 
แม่น้ำโขงในหลวงพระบาง
  
   อดีตที่ผ่านมาในศตวรรษที่ 14 นับแต่สมัย “สมเด็จเจ้าฟ้างุ้มมหาราช” อาณาจักรล้านช้างมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่าในปัจจุบัน
   คือ มีเนื้อที่ถึง 480.000 ตารางกิโลเมตร แต่ต่อมาภายหลังเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ประเทศสยาม หลังจากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้
   การปกครองของประเทศฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม ทำให้สปป.ลาว มีเนื้อที่ในปัจจุบันเหลือเพียง 236.800 ตารางกิโลเมตร
 
 
ภูมิอากาศ
 
สปป.ลาว มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในทะเลจีนใต้จึงทำให้แบ่งสภาพภูมิอากาศ
ออกเป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน     เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ปลายเดือนพฤษภาคม
ฤดูฝน       เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน - ปลายเดือนกันยายน
ฤดูหนาว   เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์
 
อุณหภูมิเฉลี่ยที่นครหลวงเวียงจันทน์ 25 องศาเซลเซียส (มกราคม) และ 36-37 องศาเซลเซียส (เมษายน)
อุณหภูมิเฉลี่ยที่หลวงพระบาง 20 องศาเซลเซียส (มกราคม) และ 32-34 องศาเซลเซียส (เมษายน)
ช่วงหน้าหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยบนภูเขาทางภาคเหนือ 10-15 องศาเซลเซียส
 
 
การเมืองการปกครองในประเทศลาว
 
สปป.ลาว ได้สถาปนาประเทศมาเป็นระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 (ต่อมาถือเป็นวันชาติ)
พรรคการเมืองมีเพียงพรรคเดียวคือ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” (มีอำนาจสูงสุดนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง)  
มีประธานพรรคเป็นประมุขของประเทศเรียกว่า “ประธานประเทศ”  ปัจจุบัน คือ ฯพณฯท่าน พลโท จุมมะลี ไชยะสอน
โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขฝ่ายบริหารและหัวหน้ารัฐบาล ปัจจุบันคือ ฯพณฯท่าน บัวสอน บุบผาวัน
ทั้ง 2 ตำแหน่งได้รับการพิจารณาแต่งตั้งจากสภาแห่งชาติ (ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาแห่งชาติจากผู้ที่พรรคฯ เสนอ)
อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี รัฐธรรมนูญฉบับแรกประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2534
(แต่เดิมกฎหมายจะอยู่ในรูปของคำสั่งฝ่ายบริหาร คือระเบียบคำสั่งของพรรคและสภารัฐมนตรี)
 
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 แขวง (จังหวัด)  และ 1 เขตปกครองพิเศษ คือ

    นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของประเทศมีการปกครองแบบเขตปกครองพิเศษ
    แขวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงคือ โพนโฮง
    แขวงหลวงพระบาง เมืองหลวงคือ หลวงพระบาง
    แขวงหลวงน้ำทา เมืองหลวงคือ หลวงน้ำทา
    แขวงอุดมไซ เมืองหลวงคือ เมืองไซ
    แขวงบ่อแก้ว เมืองหลวงคือ ห้วยทราย
    แขวงพงสาลี เมืองหลวงคือ พงสาลี
    แขวงหัวพัน เมืองหลวงคือ ซำเหนือ
    แขวงเชียงขวาง เมืองหลวงคือ โพนสะหวัน
    แขวงไซยะบุรี เมืองหลวงคือ เมืองไซยะบุรี
    แขวงบอลิคำไซ เมืองหลวงคือ เมืองปากซัน
    แขวงคำม่วน เมืองหลวงคือ เมืองท่าแขก
    แขวงสะหวันนะเขต เมืองหลวงคือ เมืองไกสอน พรหมวิหาน
    แขวงสาละวัน เมืองหลวงคือ เมืองสาละวัน
    แขวงเซกอง เมืองหลวงคือ เมืองละมาม
    แขวงจำปาศักดิ์ เมืองหลวงคือ เมืองปากเซ
    แขวงอัตตะปือ เมืองหลวงคือ เมืองสามักคีไซ

หมายเหตุ:
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีคำสั่งยุบเขตปกครองพิเศษไซสมบูน อย่างเป็นทางการ
ตามรัฐดำรัสนายกรัฐมนตรี (คำสั่งนายกรัฐมนตรี) เลขที่ 10/นย. ลงวันที่ 13 มกราคม 2549
โดยเมืองท่าโทมถูกรวมกับแขวงเชียงขวาง และเมืองไซสมบูนถูกรวมกับแขวงเวียงจันทน์
 
ระเบียบการจัดตั้งและการบริหารการปกครอง แบ่งเป็นลำดับชั้นโดยเริ่มจาก
 - หลาย ครัวเรือน รวมกันเป็น “บ้าน” (หมู่บ้าน)
- หลาย หมู่บ้าน   รวมกัน เป็น “เมือง” (อำเภอ)
- หลาย เมือง      รวมกัน เป็น “แขวง” (จังหวัด)
- คณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน มีนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นหัวหน้าผู้บริหารของหมู่บ้าน
- คณะกรรมการปกครองเมือง มีเจ้าเมือง (นายอำเภอ) เป็นหัวหน้าผู้บริหารเมือง
- คณะกรรมการปกครองแขวง มีเจ้าแขวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นหัวหน้าผู้บริหารแขวง
- คณะกรรมการปกครองนครหลวง มีเจ้าครองนครหลวง (ผู้ว่าราชการกรุงเวียงจันทน์) เป็นหัวหน้าผู้บริหารนครหลวง
 
การบริหารประเทศของสปป.ลาว แบ่งเป็น 2 สายงานที่ควบคู่กันคือ พรรคและรัฐ พรรคหมายถึงพรรคประชาชนปฏิวัติลาว
รัฐคือรัฐบาล ในสุนทรพจน์และคำปราศรัยต่างๆ มักจะกล่าวถึงพรรคและรัฐคู่กันเสมอ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เป็นผู้กำหนด
ทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศในภาพรวม ส่วนรัฐบาลเป็นผู้บริหารจัดการตามนโยบายของพรรค อย่างไรก็ดี
ในทางปฏิบัติผู้มีตำแหน่งสำคัญของสปป.ลาว มักดำรงตำแหน่งทั้งในสายงานของพรรคและรัฐควบคู่กัน เช่น
ประธานประเทศเป็นเลขาธิการใหญ่คณะบริหารศูนย์กลางพรรคและกรรมการกรมการเมือง, ประธานสภาแห่งชาติ, นายกรัฐมนตรี
และรองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นกรรมการกรมการเมือง ในระดับแขวงเจ้าแขวงหลายแขวงเป็นเลขาธิการพรรคด้วย
กลไกระดับสูงของพรรคได้แก่ กรรมการกรมการเมือง (Politburo) 11 คนและคณะกรรมการศูนย์กลางพรรค 55 คน ทั้งนี้
กรรมการกรมการเมืองมักเป็นผู้อาวุโสที่สุดของคณะกรรมการศูนย์กลางพรรค นอกจากนี้ มีคณะกรรมการและองค์กรอื่นๆ
ในสังกัดพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เช่น

    คณะกรรมการตรวจตราศูนย์กลางพรรค
    คณะโฆษณาอบรมศูนย์กลางพรรค
    คณะจัดตั้งศูนย์กลางพรรค
    คณะพัวพันต่างประเทศศูนย์กลางพรรค
    ศูนย์กลางสหพันกรรมบาล (กรรมกร) ลาว
    ศูนย์กลางสหพันแม่หญิงลาว
    ศูนย์กลางชาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว
    ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ

 
 
รายชื่อกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว
 
 
รายชื่อ
 
   
 
ตำแหน่งในพรรค
   
 
ตำแหน่งในรัฐบาล
ฯพณฯท่าน จุมมาลี ไซยะสอน
   
เลขาธิการใหญ่คณะบริหารงาน
ศูนย์กลางพรรค
   
ประธานประเทศ
ฯพณฯ ท่าน สะหมาน วิยะเกด
 
   
กรรมการกรมการเมือง
   
อดีตประธานสภาแห่งชาติ
ฯพณฯ ท่าน ทองสิง ทำมะวง
 
   
กรรมการกรมการเมือง
   
ประธานสภาแห่งชาติ
ฯพณฯ ท่าน บุนยัง วอละจิด
   
กรรมการกรมการเมืองและ
เลขาธิการศูนย์กลางพรรค
   
รองประธานประเทศ
ฯพณฯ ท่าน สีสะหวาด แก้วบุนพัน
   
กรรมการกรมการเมืองและ
ประธานแนวลาวสร้างชาติ
   
อดีตนายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ ท่าน อาซาง ลาวลี
   
กรรมการกรมการเมือง
เลขาธิการศูนย์กลางพรรคและ
ประธานคณะกรรมการตรวจตรา
ศูนย์กลางพรรค
   
รองนายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ ท่าน บัวสอน บุบผาวัน
 
   
กรรมการกรมการเมือง
   
นายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ ท่าน ทองลุน สีสุลิด
   
กรรมการกรมการเมือง
   
รองนายกรัฐมนตรีและ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศ
พลโท ดวงใจ พิจิด
   
กรรมการกรมการเมืองและ
เลขาธิการศูนย์กลางพรรค
   
รองนายกรัฐมนตรีและ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกัน
ประเทศ
ฯพณฯ ท่าน สมสะหวาด เล่งสะหวัด
 
   
กรรมการกรมการเมือง
   
รองนายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ ท่าน สะหมาน วิยะเกด
 
   
กรรมการกรมการเมือง
   
รองประธานสภาแห่งชาติ
 
 
ชุดแต่งกายประจำชาติลาว
 
ประชากร
 
สปป.ลาวมีประชากรทั้งหมดประมาณ 6.3 ล้านคน (สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2552) แขวงที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ คือ
แขวงสะหวันนะเขต (ประมาณ 900,000 คน, เมื่อปี พ.ศ.2552), แขวงที่มีประชากรน้อยที่สุดของประเทศ คือ แขวงเซกอง
(90,000 คน, เมื่อ ปี พ.ศ.2552) นครหลวงเวียงจันทน์มีประชากรประมาณ 730,000 คน (เมื่อปี พ.ศ.2552)
 
ชนเผ่าต่างๆ ในลาว
 
ประกอบด้วย 3 ชนชาติใหญ่รวม 68 เผ่า ได้แก่
- ลาวลุ่ม (ลาวแท้ๆ) หมายถึง ชนเผ่า ลาว ที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำโขง คิดเป็นร้อยละ 68 ของประชากรทั้งหมด
เช่น ไทลาว ไทเหนือ ไทแดง ไทขาว ผู้ไท ลาวพวน ไทลื้อ เป็นต้น มีอาชีพหลักคือการปลูกข้าวและภาคการเกษตรอื่นๆ
นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
 
- ลาวเทิง (ขมุ) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยบนพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร คิดเป็นประชากรร้อยละ 22 ของประเทศ เช่น
สีดา บ่าแวะ ละแนด เป็นต้น มีความเชื่อศรัทธาในลัทธิถือบูชาผี
 
- ลาวสูง (ม้ง)   เป็นพวกชาวเขามีประมาณร้อยละ 9 ของประชากรทั้งหมด อาศัยอยู่บนเทือกเขาสูง ส่วนใหญ่เป็น ชาวม้ง
และเผ่าอื่นๆ เช่น มูเซอ ก่อ กุย เป็นต้น
 
ส่วนคนลาวเชื้อสายจีนและเชื้อสายเวียดนาม อาศัยอยู่ในเขตใจกลางเมืองย่านธุรกิจการค้า ประกอบอาชีพธุรกิจการค้าและบริการ
ชาวยุโรปมีจำนวนน้อย ส่วนมากทำงานในองค์การช่วยเหลือสากล เช่น องค์การ UNDP, องค์การ UNESCO เป็นต้น
 
สปป.ลาวจัดเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ มีความหนาแน่นของประชากร
เพียง 25 คน/ตารางกิโลเมตร (ข้อมูลปี 2547)
 
ศาสนาพุทธในลาว
 
ศาสนา
 
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลาว มีผู้นับถือร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ เริ่มเข้ามาสู่ประเทศลาวตั้งแต่สมัย
สมเด็จเจ้าฟ้างุ่ม ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง โดยอัญเชิญพระบางมาจากกัมพูชามาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูป
คู่บ้าน-คู่เมืองอยู่ที่หลวงพระบาง ชาวลาวลุ่มจะนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (หินยาน) เช่นเดียวกับประเทศไทย
พม่า ศรีลังกา และทว่าลัทธินับถือผีก็ยังมีผู้เลื่อมใสอยู่มาก (ประมาณร้อยละ 16-17) เป็นระบบความเชื่อดังเดิมที่มี
อิทธิพลอยู่ทั่วประเทศ ชาวลาวเชื่อว่าผีมีอยู่จริง จะมีการนำเอาเรื่องผีไปผูกเข้ากับต้นไม้ ภูเขา น้ำตก
รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆส่วนศาสนาคริสต์และอิสลามนั้นมีน้อยมากประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด
 
 
 
ภาษาประจำชาติ
 
ภาษาหลักคือ ภาษาลาว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาษาไทยทางภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้คนลาวรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป
สามารถพูดและเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ดี
 
ภาษารองคือ ภาษาอังกฤษและภาษาไทย (ชาวลาวเกือบทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถฟังภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากรับชมรายการโทรทัศน์จากช่องไทยได้ทุกช่อง)
 
ชุดแต่งกายประจำชาติของผู้หญิงลาว
 
เครื่องแต่งกาย
 
ชาวลาวยังเคร่งครัดในวัฒนธรรมอันดีงามของการแต่งกาย โดยเฉพาะเมื่อจะเข้าไปในเขตวัดหรือสถานที่ราชการ
ผู้หญิงลาวจะต้องนุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อแบบสุภาพ ส่วนผู้ชายลาวก็ต้องนุ่งกางเกงขายาวเสื้อแบบสุภาพเช่นกัน
เครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาและข้าราชการของผู้หญิงจะนุ่งเป็นผ้าซิ่นทั้งหมด เมื่อก่อนนี้ยังมีกฏ-ระเบียบ
ห้ามผู้หญิงย้อมผมเป็นสีต่างๆ แต่ในปัจจุบันกฏที่ว่าค่อนข้างจะผ่อนผันไปมากแล้ว
 
 
วันชาติ
 
2 ธันวาคม ของทุกปี
 
 
เวลาทำงาน
 
ราชการ   วันจันทร์ – วันศุกร์เวลา 08.00 น. - 11.30 น.  จากนั้นจะเป็นเวลาพักกลางวัน
เริ่มงานช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. - 16.00 น.
เอกชนและรัฐวิสาหกิจ   วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 น. – 12.00 น. พักกลางวัน 1 ชั่วโมง
เริ่มงานช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. – 16.00 น.
วันหยุด เสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ
 
 
ระบบการเงินและการธนาคาร
 
สกุลเงินหลักของลาวคือ “กีบ” ลักษณะจะเป็นธนบัตรทั้งหมด
ปัจจุบันธนบัตรเงินกีบจะมีตั้งแต่ฉบับราคา 500 กีบ -50,000 กีบ  ไม่มีเงินเหรียญกษาปณ์
 
ธนบัตรลาว 500 กีบ     ธนบัตรลาว 1,000 กีบ
 
ธนบัตรลาว 2,000 กีบ     ธนบัตรลาว 5,000 กีบ
 
ธนบัตรลาว 10,000 กีบ     ธนบัตรลาว 20,000 กีบ
 
ธนบัตรลาว 50,000 กีบ
  
หมายเหตุ:
ธนบัตรมูลค่าตั้งแต่ 10,000 กีบ , 20,000 กีบ , 50,000 กีบ การเรียกขานของคนลาวจะเรียกว่า
“สิบพันกีบ”, “ซาวพันกีบ” และ “ห้าสิบพันกีบ” ซึ่งแตกต่างจากการเรียกของคนไทยคาดว่าน่าจะประยุกต์มาจาก
ภาษาต่างประเทศที่ไม่มีลักษณะการเรียกจำนวนเงินหลักหมื่นหรือหลักแสน เช่น 10,000 กีบ =  Ten thousand kip
หรือ 50,000 กีบ = Fifty thousand kip เป็นต้น
 
เงินกีบสามารถใช้ได้ทั่วไปในประเทศลาว นอกจากนี้ตามเมืองใหญ่ๆ และเมืองท่องเที่ยว เช่น นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองวังเวียง
หลวงพระบาง สะหวันนะเขต ฯลฯ สามารถใช้เงินบาทไทยและเงินดอลล่าร์สหรัฐชำระค่าบริการต่างๆ ได้ ส่วนเครดิตการ์ด
สามารถใช้ได้ตามโรงแรม,ร้านอาหาร,บริษัทท่องเที่ยวใหญ่ๆ โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3-5 การแลกเปลี่ยนเงินตรา
สามารถแลกได้ตามเคาท์เตอร์แลกเงินในธนาคาร หรือจุดรับแลกเปลี่ยนเงินตราตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยจะต้องใช้
พาสปอร์ตแสดงด้วย
 

ontcftqvx

  • สมาชิกใหม่
  • *
  • Posts: 0
    • View Profile
Re: ข้อมูล หลวงพระบาง
« Reply #1 on: March 24, 2011, 01:35:18 PM »

ธนาคาร BCEL Lao     ธนาคาร Phongsavanh Lao
 
ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มี 4 ธนาคาร ได้แก่

    ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao: BCEL) ก่อตั้งเมื่อปี 2532 มีสาขา 14 แห่ง
    ธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank) เป็นธนาคารที่เกิดจากการรวมกิจการของธนาคารล้านช้างกับธนาคารลาวใหม่ ในปี 2547 มีสาขา 18 แห่ง
    ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (Agriculture Promotion Bank) ก่อตั้งเมื่อปี 2536 มีสาขา 17 แห่ง
    ธนาคารนโยบาย (Nayobay Bank) ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2550 (แยกจากธนาคารส่งเสริมกสิกรรม) มี สาขา 5  แห่ง ไม่ทำหน้าที่รับฝากเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไป แต่จะทำหน้าที่ปล่อยกู้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านนโยบาย

ธนาคารร่วมทุน (Joint Venture Banks) มี 5 ธนาคาร คือ

    ธนาคาร ANZ (ธนาคารเวียงจันทน์พาณิชย์เดิม)
    ธนาคารร่วมพัฒนา (Join Development Bank) เป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารแห่งสปป.ลาว กับบริษัทเอกชนของไทย
    ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด (Lao-Viet Bank) เป็นการร่วมทุนระหว่างการค้าต่างประเทศ (BCEL) ของลาว กับธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาของเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam)
     ธนาคาร Indochina เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับกลุ่มทุนจากประเทศเกาหลีใต้
    ธนาคารลาว-ฝรั่งเศส

ธนาคารเอกชนของลาว มี 2 ธนาคาร คือ

    ธนาคารพงสะหวัน (Phongsavanh Bank) ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ดำเนินการโดยเอกชนลาว 100%
    ธนาคารเอสที (ST Bank)

สาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในประเทศลาวมี 5 ธนาคาร คือ

    ธนาคารกรุงเทพ
    ธนาคารกรุงไทย
    ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    ธนาคารทหารไทย
    ธนาคารไทยพาณิชย์

มีธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารแห่แงรกที่เปิดสาขาต่างแขวงที่แขวงสะหวันนะเขตเมื่อปี 2552
และธนาคารกรุงไทยกำลังมีโครงการจะเปิดสาขาที่แขวงหลวงพระบาง
 
ตู้เอทีเอ็มในประเทศลาว
 
ข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศลาว
 
GDP     5,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล CIA World Factbook ปี 2552)
GDP per capita     ประมาณ 918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล CIA World Factbook ปี 2552)
อัตราการเติบโตของGDP     ประมาณร้อยละ 7.6 (ปี 2552)
อัตราเงินเฟ้อ     ร้อยละ 0.81 (อัตราเฉลี่ยปี 2552 ข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติแห่ง สปป.ลาว)
ทรัพยากรสำคัญ     ไม้ ข้าว ข้าวโพด เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำและแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า
อุตสาหกรรมหลัก    โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เหมืองแร่ ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้
ตลาดส่งออกที่สำคัญ     ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ
สินค้านำเข้าที่สำคัญ     รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภค
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ     ไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
 
การทำธุรกรรมในลาว
 
เวลา
 
เร็วกว่าเวลามาตราฐานกรีนิช 7 ชั่วโมง (ใช้เวลาเดียวกันกับประเทศไทย)
 
 
ไฟฟ้า
 
220 โวลต์ วงจรกระแสสลับ (เช่นเดียวกับประเทศไทย) ปลั๊กไฟเป็นแบบขาแบนและขากลม 2 ขา เกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง
แม้ในนครหลวงเวียงจันทน์หรือเมืองท่องเที่ยวอย่างหลวงพระบาง ในชนบทที่ห่างไกลบางแห่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้
 
 
ระบบการศึกษา
 
นักเรียนในประเทศลาว
 
สปป.ลาวกำหนดให้นักเรียนเรียนชั้นประถมศึกษา 5 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี
รวมระยะเวลาศึกษา 12 ปี เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาแล้ว นักเรียนอาจศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยเทคนิค
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 5 แห่ง คือมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก) ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งจากการแยกคณะด้านการแพทย์ เช่น แพทยศาสตร์,
ทันตแพทย์ศาสตร์, เภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ)
มหาวิทยาลัยสุพานุวง แขวงหลวงพระบาง สำหรับรองรับนักเรียนจากแขวงทางภาคเหนือ มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต
และมหาวิทยาลัยจำปาสัก สำหรับรองรับนักเรียนจากแขวงทางภาคใต้ การเข้ามหาวิทยาลัยจะใช้ระบบการสอบคัดเลือก
 
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุพานุวง หลวงพระบาง
 
สำหรับสายวิชาชีพ นักเรียนต้องจบชั้นมัธยมปลายจึงจะสมัครเรียนได้ แบ่งเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นกลาง
ระยะเวลาศึกษา 2 ปี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ระยะเวลาศึกษา 3 ปี
สปป.ลาว มีวิทยาลัยเทคนิคในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ 22 แห่ง เช่น วิทยาลัยเทคนิคสรรพวิชา
วิทยาเทคนิคปากป่าสัก โรงเรียนเทคนิคลาว-เยอรมัน นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัยที่สอนเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยการช่าง
วิทยาลัยช่างครู วิทยาลัยกฎหมาย รวมทั้งมีสถาบันการศึกษาของเอกชนจำนวนหนึ่ง เช่น วิทยาลัยลาว-อเมริกัน
วิทยาลัยธุรกิจลาว-สิงคโปร์ และสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเปิดสอนด้านการพยาบาลและคอมพิวเตอร์
 
 
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศลาว
 
การคมนาคมทางถนน
 
ถนนในลาว
 
ทางหลวงหมายเลข 1 เริ่มจากชายแดนสปป.ลาว ที่ติดกับจีนแขวงพงสาลี ผ่านแขวงพงสาลี หลวงน้ำทา อุดมไซ
หลวงพระบาง และเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 6 ที่แขวงหัวพัน
 
ทางหลวงหมายเลข 2 เชื่อมสปป.ลาว-เวียดนาม ต่อจากทางหลวงหมายเลข 3 ที่แขวงหลวงน้ำทา ผ่านแขวงพงสาลี
จากนั้นเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 6 ของเวียดนามที่เมืองเดียนเบียนฟู มุ่งสู่ฮานอยได้
 
ทางหลวงหมายเลข 3 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Northern Economic Corridor Project เพื่อเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน
จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าสู่สปป.ลาวที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว
(รัฐบาลลาวกำลังดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจรตามทางหลวงหมายเลข 3) ผ่านหลวงน้ำทา สู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
รวมระยะทางจากเชียงรายสู่คุนหมิงประมาณ 1,200 กิโลเมตร เฉพาะส่วนที่ผ่านสปป.ลาวมีระยะทาง 228 กิโลเมตร
 
แผนที่เส้นทาง R3A
 
ทางหลวงหมายเลข 4 เริ่มตั้งแต่เมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามอ.ท่าลี่ จังหวัดเลย โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
ข้ามแม่น้ำเหืองเชื่อมทั้งสองฝั่ง ทางหลวงหมายเลข 4 ตัดผ่านแขวงไซยะบุรีไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 13 เหนือที่
เมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง เส้นทางนี้ต้องผ่านแม่น้ำโขงซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสะพาน แต่สปป.ลาว กำลังจะก่อสร้างสะพาน
ข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมแขวงหลวงพระบางกับแขวงไซยะบุรี (ปากคอน-ท่าเดื่อ) ความยาว 620 เมตร กว้าง 10.5 เมตร
และปรับปรุงถนนจากสะพานไปเมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 58 กิโลเมตรเป็นถนนลาดยาง
เส้นทางนี้จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดเลยกับแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบาง
 
ทางหลวงหมายเลข 7 เชื่อมต่อถนนหมายเลข 13 กับถนนที่จะไปเมืองวินห์ ของประเทศเวียดนาม ยาว 270 กิโลเมตร
ลาดยางแล้วประมาณ 170 กิโลเมตร
 
ทางหลวงหมายเลข 8 แยกจากถนนหมายเลข 13 บริเวณตอนกลางของประเทศ เชื่อมต่อจากประเทศไทยสู่สปป.ลาว
ที่เมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ และเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 1 ของเวียดนามที่มุ่งสู่เมืองวินห์ และฮาติง
เมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ข้ามแม่น้ำโขงแล้วเสร็จ (จังหวัดนครพนม-แขวงคำม่วน)
การเดินทางจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปเวียดนามสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 8 ได้สะดวกขึ้น
 
ทางหลวงหมายเลข 9 แยกจากถนนหมายเลข 13 ที่แขวงสะหวันนะเขต เชื่อมจากจังหวัดมุกดาหารของไทย
ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 มุ่งสู่เวียดนามที่ด่านลาวบาว เป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญ
ในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าจากไทยสู่สปป.ลาวและเวียดนาม
 
ทางหลวงหมายเลข 10 เชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
และเชื่อต่อกับจังหวัดอุบลราชธานีที่ด่านช่องเม็ก
 
ทางหลวงหมายเลข 12 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 13 ที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วนเชื่อมกับจังหวัดนครพนมของไทย ซึ่งกำลัง
ก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 และเชื่อมต่อกับประเทศเวียดนามที่ด่านนาเพ้า-จาลอ
 
ทางหลวงหมายเลข 13 เชื่อมทางตอนใต้และเหนือของสปป.ลาว เริ่มจากชายแดนติดประเทศกัมพูชา เลาะเลียบตามแม่น้ำโขง
ถึงนครหลวงเวียงจันทน์และผ่านไปยังแขวงอุดมไซ เชื่อมกับถนนหมายเลข 7, 8 และ 9
 
ทางหลวงหมายเลข 18 แยกมาจากทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ที่แขวงจำปาสัก ตัดผ่านแขวงอัตตะปือ ไปออกชายแดน
ประเทศเวียดนามที่ด่านพูเกือ
 
การเดินทางไปลาวด้วยรถไฟ
 
การคมนาคมทางรถไฟ
สปป.ลาวมีทางรถไฟสายแรกที่เชื่อมจากจังหวัดหนองคายของไทยไปยังสถานีท่านาแล้ง บ้านโคกโพสี เมืองหาดทรายฟอง
นครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 รัฐบาลลาวมีโครงการ
ก่อสร้างทางรถไฟช่วงที่ 2 จากสถานีท่านาแล้งไปยังสถานีเวียงจันทน์ เขตบ้านคำสว่าง (หลังสนามกีฬาซีเกมส์)
ระยะทาง 9 กิโลเมตร ในเร็วๆ นี้อีกด้วย
 
การเดินทางไปลาวทางเรือ
 
การคมนาคมทางน้ำ
สปป.ลาวมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตลอดทั้งประเทศ ความยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้รวม 1,835 กิโลเมตร
แต่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น เกาะแก่งและระดับน้ำ ทำให้มีระยะทางที่ใช้ในการขนส่งเพียง 875 กิโลเมตร
เดินเรือได้สะดวกเฉพาะฤดูน้ำหลากในเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ซึ่งสามารถใช้เรือขนาดใหญ่ขนส่งและ
ลำเลียงสินค้าได้ถึงลำละ 120-150 ตันส่วนช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ที่น้ำน้อย
ต้องใช้เรือขนาดเล็กขนส่งสินค้าได้เพียงประมาณลำละ 40-60 ตัน
 
แม่น้ำสายสำคัญของประเทศลาว มีดังนี้
ชื่อแม่น้ำ
   
เส้นทางจาก – ถึง
   
ความยาว
แม่น้ำอู
   
พงสาลี – หลวงพระบาง
   
448 กิโลเมตร
แม่น้ำงึม
   
เชียงขวาง – เวียงจันทน์
   
354 กิโลเมตร
แม่น้ำเซบั้งเหียง
   
สะหวันนะเขต
   
338 กิโลเมตร
แม่น้ำเซบั้งไฟ
   
สะหวันนะเขต – คำม่วน
   
239 กิโลเมตร
แม่น้ำทา
   
หลวงน้ำทา – บ่อแก้ว
   
325 กิโลเมตร
แม่น้ำเซกอง
   
สาละวัน –เซกอง – อัตตะปือ
   
320 กิโลเมตร
แม่น้ำกระดิ่ง
   
บอลิคำไซ
   
103 กิโลเมตร
แม่น้ำคาน
   
หัวพัน – หลวงพระบาง
   
90 กิโลเมตร
แม่น้ำแบง
   
อุดมไซ
   
215 กิโลเมตร
แม่น้ำเซโดน
   
สาละวัน – จำปาสัก
   
192 กิโลเมตร
แม่น้ำเซละนอง
   
สะหวันนะเขต
   
115 กิโลเมตร
 
 
 
 การบินลาวสายการบินแห่งชาติ
 
การคมนาคมทางอากาศ
สนามบินหลักของประเทศลาว คือ สนามบินวัดไตที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร
รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 1.5 ล้านคน ปัจจุบันมีสายการบินที่ให้บริการบินตรงจากนครหลวงเวียงจันทน์สู่
8 เมืองในต่างประเทศ คือ กรุงเทพ ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ เสียมราฐ คุนหมิง หนานหนิงและกัวลาลัมเปอร์
รัฐบาลลาววางแผนจะสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่กิโลเมตรที่ 21 ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครหลวงเวียงจันทน์
ขนาด 24 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดศึกษาความเป็นไปได้ภายในปี 2558
 
สนามบินสำคัญอื่นๆ ในสปป.ลาว คือ

    สนามบินหลวงพระบาง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ มีรันเวย์ยาว 3,000 เมตร สามารถรองรับเครื่องโบอิ้ง 4 ลำ และ ATR 7 ลำได้พร้อมกัน คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2556
    สนามบินปากเซ มีรันเวย์ยาว 2,400 เมตร กว้าง 45 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 และแอร์บัส A 320
    สนามบินสะหวันนะเขต

ส่วนเมืองอื่นๆ ที่มีสนามบินสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ คือ ห้วยทราย หลวงน้ำทา อุดมไซ พงสาลี เชียงขวาง และไซยะบุรี
 
 
จุดผ่านแดนไทย-ลาว
 
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต
 
ตามกฎระเบียบของไทย จุดผ่านแดนที่คนไทย - คนลาว และคนจากประเทศที่ 3 เดินทางผ่านได้และสามารถขนส่ง
สินค้าเข้า-ออกได้ คือ จุดผ่านแดนถาวร ซึ่งชายแดนไทย-ลาวมี 15 แห่ง จุดผ่านแดนประเภทนี้ ฝั่งลาวเรียกว่า
ด่านสากล จุดผ่านแดนระดับรองลงมา คือ จุดผ่อนปรน ซึ่งฝั่งลาวเรียกว่า ด่านท้องถิ่น จุดผ่านแดนประเภทนี้
อนุญาตให้เข้า-ออกได้เฉพาะคนไทยและคนลาว และไม่ได้เปิดทุกวัน ทั้งนี้ สปป.ลาว มีด่านอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ด่านประเพณี
ซึ่งให้เข้า-ออกได้เฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดน ซึ่งอาจสรุปประเภทของจุดผ่านแดนไทย-ลาวได้ ดังนี้
 
 
ฝั่งไทย
   
 
ฝั่งลาว
 
 
จุดผ่านแดนถาวร ชายแดนไทย - ลาว มี 15 แห่ง
 
   
 
ด่านสากลชายแดนลาว-ไทย มี 9 แห่ง
 
 
 
จุดผ่อนปรนการค้า ชายแดนไทย - ลาวมี 31 แห่ง
 
   
 
ด่านท้องถิ่น
 
 
ด่านประเพณี
 
 
 
รถ 3 ล้อโดยสารสะพานมิตรภาพน้ำเหือง-แก้วท้าว
 
 
ไทยมีจุดผ่านแดนถาวรด้านชายแดน ไทย-ลาว 15 แห่ง
 
                               
                                ด่าน
 
   
                         
                           หมายเหตุ
 
ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1
(จังหวัดหนองคาย - นครหลวงเวียงจันทน์)
   
 
เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักระหว่างไทยกับ สปป.ลาว
 
 
ด่าน อ.เชียงของ
(จังหวัดเชียงราย - เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว)
 
   
 
เชื่อมโยงกับเส้นทาง R3A โดยต้องข้ามแม่น้ำโขง
โดยแพขนานยนต์ แต่ในอนาคตจะมีสะพานมิตรภาพ
ไทย-ลาวแห่งที่ 4
 
 
ด่านสะพานมิตรภาพน้ำเหืองลาว - ไทย
(อ.ท่าลี่ จ.เลย - เมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี)
 
   
 
เปิดใช้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2547 จากด่านไปเมือง
หลวงพระบางมีระยะทาง 363 กม.
แต่ถนนยังมีสภาพไม่ดี
 
 
ด่าน อ.บึงกาฬ
(จ.หนองคาย - เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ)
 
   
 
เชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข 8 ในสปป.ลาว
ใช้แพขนานยนต์ในการข้ามแม่น้ำโขง
 
ด่าน จ.นครพนม
(อ.เมือง จ.นครพนม - เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน)
 
   
 
เชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข 12 ในสปป.ลาว
ใช้แพขนานยนต์ในการข้ามแม่น้ำโขง แต่ในอนาคตจะ
มีสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 3
 
 
ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 2
(จังหวัดมุกดาหาร - แขวงสะหวันนะเขต)
 
   
 
เชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข 9 ตามแนว
East – West Economic Corridor
ไปสู่ท่าเรือในเวียดนามได้
 
 
ด่านช่องเม็ก
(อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี - วังเต่า แขวงจำปาสัก)
 
   
 
เป็นจุดผ่านแดนสู่แขวงภาคใต้ของสปป.ลาว และ
สามารถเดินทางไปเวียดนามได้ทางด่านพูเกือ
แขวงอัตตะปือ
 
 
ด่านห้วยโก๋น
(อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน - เมืองเงิน แขวงไซยะบุรี)
 
   
 
เป็นเส้นทางสู่เมืองหลวงพระบางและแขวงภาคเหนือ
ของสปป.ลาว รัฐบาลลาวกำลังจะก่อสร้างสะพาน
ข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ
 
 
ด่านสถานีรถไฟหนองคาย
(จังหวัดหนองคาย – ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์)
 
   
 
เปิดใช้เมื่อเดือน มิถุนายน 2553 มีเฉพาะการขนส่ง
ผู้โดยสาร ไม่มีการขนส่งสินค้าเพราะยังไม่มีคลังสินค้า
 
ทั้งนี้ มีจุดผ่านแดนถาวร 6 แห่ง ที่ด่านฝั่งตรงข้ามในสปป.ลาว เป็นด่านท้องถิ่น คนจากประเทศที่ 3 จึงเดินทางผ่านด่าน
เหล่านี้ไม่ได้ ได้แก่

    จุดผ่านแดนถาวรบ้านเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตรงข้ามด่านเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว
    จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย ตรงข้ามด่านเมืองซะนะคาม แขวงเวียงจันทน์
    จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อ.ปากชม จ.เลย ตรงข้ามด่านบ้านวัง เมืองหมื่น แขวงเวียงจันทน์
    จุดผ่านแดนถาวรท่าเสด็จ อ.เมือง จ.หนองคาย ตรงข้ามด่านท่าเดื่อ นครหลวงเวียงจันทน์ (เดิมด่านท่าเดื่อ เป็นด่านสากล แต่หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ด่านสากลจึงย้ายไปที่สะพานแทน)
    จุดผ่านแดนถาวร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ตรงข้ามด่านเมืองไกสอน พรหมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต (เดิมด่านเมืองไกสอน พรหมวิหาน เป็นด่านสากล แต่หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ด่านสากลจึงย้ายไปที่สะพานแทน และรัฐบาลลาวได้ลดระดับด่านเป็นด่านท้องถิ่น)
    จุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง กิ่งอำเภอนาตาล จ.อุบลราชธานี ตรงข้ามด่านบ้านปากตะพาน แขวงสาละวัน

ด่านสากลน้ำโสย ชายแดนลาว-เวียดนาม
 
สปป.ลาว มีจุดผ่านแดนทางบกที่เป็นด่านสากลกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ คือ พม่า จีน เวียดนาม และกัมพูชา อีก 10 ด่าน
และมีด่านสากลในสนามบิน 4 แห่ง ดังนี้
 
ด่านสากลลาว – พม่า

    ด่านเมืองมอม แขวงบ่อแก้ว – วังปุ่ง ท่าขี้เหล็ก

ด่านสากลลาว – จีน

    ด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา – บ่อหาน (เส้นทาง R3)

ด่านสากลลาว – เวียดนาม

    ด่านน้ำโสย แขวงหัวพัน – นาแมว
    ด่านน้ำกั่น แขวงเชียงขวาง – น้ำกั่น
    ด่านน้ำพาว แขวงบอลิคำไซ – เกาแจ่ว (ทางหลวงหมายเลข 8)
    ด่านนาเพ้า แขวงคำม่วน – จาลอ (ทางหลวงหมาย 12)
    ด่านแดนสะหวัน แขวงสะหวันนะเขต – ลาวบาว (ทางหลวงหมายเลข 9)
    ด่านปางหก แขวงพงสาลี – ไตจาง
    ด่านพูเกือ แขวงอัตตะปือ – เบออี (ทางหลวงหมายเลข 18)
    ด่านสากลลาว – กัมพูชา
    ด่านหนองนกเขียว – ตราเปรียงเกรียน

ด่านสนามบินสากล

    ด่านสนามบินหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง
    ด่านสนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์
    ด่านสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก
    ด่านสนามบินสะหวันนะเขต แขวงสะหวันนะเขต   

 
 
ดอกไม้ประจำชาติ
 
ดอกจำปา ดอกไม้ประจำชาติลาว
 
“ดอกจำปา” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ดอกลีลาวดี” สามารถพบเห็นได้ทั่วทุกหนแห่งในประเทศลาว ชาวลาวนิยมนำดอกจำปา
มาทำเป็นพานบายสีสู่ขวัญถวายพระ และนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อต้อนรับแขกบ้าน - แขกเมืองตามประเพณีอันดีงาม
มาแต่โบราณกาล ดอกจำปาที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของลาว จะมี 5 กลีบสีขาวปนเหลืองบานซ้อนกันอยู่ในดอกเดียว
ซึ่งเปรียบเสมือนความเจริญรุ่งเรืองใบสีเขียวอ่อน เปรียบเสมือนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และธรรมชาติ
จนมีคำกล่าวกันว่า “ดอกจำปาที่สวยที่สุดจะบานอยู่ใน ประเทศลาวเท่านั้น”
 
 
หมายเหตุ:
ไม่สงวนสิทธิในการนำข้อมูล สภาพทางภูมิศาสตร์ประเทศลาว ไปใช้เพื่อการอ้างอิงแต่กรุณาทำลิงค์กลับมายังแหล่งที่มา
หรือลงเครดิตที่มาให้กับเราด้วย
 
 
Update ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 20/06/2010
ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือการค้าการลงทุนในสปป.ลาว
จัดพิมพ์โดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ.กรุงเวียงจันทน์
 
ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวหรือภาพถ่ายในประเทศลาว ให้แก่ผู้อ่านท่านอื่นๆ
สามารถโพสบทความและรูปภาพของท่านใน: http://www.louangprabang.net/phpbb3/
 
พบข้อมูลใดๆ ที่ผิดพลาดในหน้าเว็บนี้หรือไม่? ท่านสามารถมีส่วนร่วมปรับปรุงข้อมูลในหน้าเว็บเพจนี้ ผ่านทาง:
E-mail:info@louangprabang.net 

 

tuazatuatt

  • Guest
Re: ข้อมูล หลวงพระบาง
« Reply #2 on: May 08, 2012, 08:55:27 AM »
ขอบคุณคับ